Tuesday 27 March 2012

จบวัน ที่ตรงไหน


by meepole

หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า " เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง"  แต่สำหรับ meepole แล้ว การจบวัน ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน และ meepole ก็ให้ความสำคัญกับ "การจบวัน" มากกว่าการเริ่มต้นวัน  เสียอีก เพราะการเริ่มต้นวันนั้น ง่ายๆบอกกับตัวเองจนไม่ต้องบอกแล้วว่า "มงคลสูตรข้อ1" แค่นี้สติก็เกิดได้ทั้งวัน แต่ทั้งนี้ก็นาๆจิตตังแล้วแต่วิถีชีวิตที่แต่ละคนเลือก


ขอทำความเข้าใจก่อนว่า คำว่า "การจบวัน" ในที่นี้คือ "การหมดวันในแต่ละวัน " มีใครเคยรู้สึกหรือสังเกตุไหมคะว่า ในแต่ละวันของเรา อะไรเป็นตัวบอกว่า จบอีกวันแล้ว หรือ "เฮ้อ! หมดวันเสียที" แล้วคุณทำอะไรเพื่อต้อนรับการหมดวัน หรือเปล่า นั่นคือประเด็นของเรื่องนี้


คนหลายๆคนไม่ได้สนใจอะไร ไม่คิดอะไร ชีวิตก็ผ่านไปวันๆ บางคนก็แบบหาเช้ากินค่ำ รู้ว่าเช้าวันใหม่แล้วเพราะไก่ขัน นกร้อง เสียงรถจอแจ แสงแดดส่องเข้าห้องฯ  ส่วนเย็นก็ พระอาทิตย์ตกดิน นกกลับรัง ทานข้าวมื้อเย็น  หรือไม่ก็ล้างจาน ปิดโทรทัศน์เข้านอน เป็นการจบเย็น ของหลายๆคน


ของ meepole การเริ่มจบเย็นมี 3 ช่วงคือ ช่วงประมาณ 5 โมงเย็นให้อาหารเด็กๆ 4 ตัว หลังจากนั้นเก็บกวาดเล็กน้อย อาบน้ำ ลงมาเขียนหนังสือต่ออีกรอบ จนไกล้ 2 ทุ่ม ขึ้นไปไหว้พระสวดมนต์  เป็นส่วนกิจกรรมของวันที่จิตกำหนดรู้ตัวว่า "จบวัน "  ขอพรพระ แผ่เมตตา อุทิศกุศลอานิสงส์จากการสวดมนต์ให้บรรพบุรุษ ผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร ฯ  ดับเทียน  นี่จิตจะบอกว่า "จบวัน" แล้วจ๊ะ   แล้วจะลงมานั่งหน้า TV เขียนหนังสือต่อ อันนี้เป็นส่วนสบายๆที่ทำต่อ ...เขียนจนไกล้เวลานอน จะเล่นเกมส์ต่อโซ่อีกเล็กน้อยพอแพ้มันก็เข้านอน หุ หุ


 ทุกครั้งที่เตรียมจะเริ่มสวดมนต์เย็น จุดเทียน ธูป ปักธูป ก้มลงกราบพระพุทธ มองที่องค์พระก็จะรู้สึกดี อิ่มใจ (ลองดูภาพที่ให้มาก็ได้ค่ะ)และขอบคุณโอกาสที่ได้เกิดเป็น มนุษย์ เป็นชาติเดียวที่ได้มีโอกาสสวดมนต์ ต่อบุญ อุทิศให้ใครต่อใครได้ หากเกิดเป็นสัตว์ใดๆ คงไม่ได้มีโอกาสดีเช่นนี้ และทุกครั้งที่สวดมนต์เสร็จ จะรู้สึกดีๆ จิตสงบสบาย ปลอดโปร่ง รู้สึกขอบคุณ ที่ชีวิตแต่ละวันพบแต่ความสงบ แม้วันไหนที่จำเป็นต้องออกนอกบ้านก็ตั้งจิตขอพบแต่คนดี (เลยไม่ค่อยได้พบใครนัก หุ หุ) แม้วันไหนที่เข้ามหาวิทยาลัย หากมีคลื่นมากระทบ (เพราะเป็นที่รวมทั้งบัณฑิต และอบัณฑิต)  แต่ไม่กระเทือนเพราะมีเกราะที่ดีกั้นป้องกันไว้เสมอ กำแพงบุญที่ค่อยๆก่อไว้จะเป็นด่านป้องกัน สะท้อนสิ่งไม่ดีออกไปเอง โดยไม่รู้ตัวในบางครั้ง แต่ผ่านไปด้วยดีเสมอ ขอให้ยึดและทำในสิ่งถูกต้องไว้ (มักมีคนมาบอกภายหลัง และบอกว่าอจ.โชคดีที่ไม่โดน เพราะส่วนมากโดนกันแล้ว)  แค่รับรู้ (บางทีแอบยิ้มอีกต่างหาก ว่ากุศลช่วยอีกแล้ว) แล้ววางที่นั่น ไม่เคยเข้าถึงในจิตส่วนลึกได้  (แต่สามารถเอามาเขียนถ่ายทอด เพื่อเป็นอุทธาหรณ์ สะท้อนชีวิตบ้าง เขียนจบ ก็หมดลบทิ้งกันไป)


ขอให้ทำความดีไปเรื่อยๆเหมือนการเติมน้ำใส่ตุ่ม ไม่ต้องไปสนใจว่ามีน้ำมากแค่ไหนแล้ว หมั่นเติมใส่ทุกวัน ตั้งแต่ 1 หยดถึง 1 ขัน เติมเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะเต็ม มีให้เราดื่มกิน มีเหลือเผื่อแผ่ให้คนอื่นมาตักกินด้วยเป็นความสุข 2 เท่า ขอให้ตั้งใจจบวันให้ดี ขอผลบุญที่ได้ทำในแต่ละวันที่ได้ทำแล้ว (หากไม่แน่ใจย้อนกลับไปอ่านเรื่องการทำบุญ 13 ตอน ที่เขียนแล้ว) หนุนส่งให้ได้พบในสิ่งที่ดี เป็นมงคลแก่ชีวิต และมีชีวิตที่สงบเย็น ขอให้ตั้งใจมั่นแล้วจะได้สิ่งดีๆนั้นจริงๆค่ะ ขอยืนยัน

 หากใครคิดหรือรู้สึกว่าชีวิตแต่ละวันวุ่นวายหนอ ทุกข์หนอ ลองมาเริ่มจบวันกันด้วยการกำหนดสติ และอุทิศบุญ แผ่เมตตา กันทุกวันนะคะ แล้วชีวิตจะเปลี่ยนแปลง ค่ะ :)

ที่มาภาพพระพุทธ: myspace.com

Sunday 18 March 2012

อย่า..งมงายในวิทยาศาสตร์


by meepole
คำกล่าว ตามชื่อเรื่องข้างต้นกำลังเป็นประเด็นร้อนทั่วโลกอินเทอร์เน็ต (ข่าวว่าเช่นนั้น) มีที่มาที่ไปอ่านได้จาก http://hilight.kapook.com/view/68861  (ควรอ่านก่อน) แต่เรื่องนี้ไม่ไช่ประเด็นหลักที่ meepole จะวิพากษ์วิจารณ์ (เดี๋ยวจะหาว่าเกาะกระแส)  เพราะบางเรื่องบางเรื่องควรต้องรู้เสมอกันจึงถกประเด็นกันได้ เพราะต้องอิง ความรู้ ความเข้าใจ เหตุผล หาไม่แล้วทะเลาะกันไปก็ไม่เกิดปัญญาขึ้น ขุ่นมัวกันไปเปล่าๆ และบางเรื่องต้องใช้ระยะเวลา ไปเถียงทันที ไม่มีอะไรดีขึ้น คนดีๆเสียความเชื่อถือก็มากมาย เพราะออกมา ผิดสถานที่ ผิดเวลา และ/หรือพูดด้วยความหลงตน แม้ภายหลังออกมาพูดเรื่องถูกต้องก็มีเฉพาะคนฟังที่มีปัญญาเสมอกันจึงเชื่อ สังคมยุคนี้จึงค่อนข้างเปราะ เบา

meepole ในฐานะเป็นนักวิทยาศาสตร์ อันนี้เพราะเรียนและวิจัยค้นคว้าในสาขานี้มาโดยตลอด สามารถยืนยันได้ว่าการค้นคว้า ค้นพบทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนความรู้ต่างๆมากมายที่เกิดขึ้น ต้องพึ่งเทคโนโลยี ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นำมาซึ่งการค้นพบเทคโนโลยี มีเทคโนโลยีก็สามารถนำไปสู่ความรู้ใหม่ต่อยอดได้เรื่อยๆ  ต่างตอบแทนว่างั้นเถอะ ที่เห็นชัดคือปัจจุบันเราก้าวสู่ยุคของนาโนเทคโนโลยี เป็นขนาดที่เล็กมากจนต้องใช้อุปกรณ์พิเศษใหม่หมดในการศึกษา ในอดีตหลายสิบปีที่แล้วไม่มีใครมองเห็นในระดับนั้นได้ และหากใครพูดถึงสิ่งที่ไม่เห็นในยุคโน้นก็จะถูกมองว่า "เพี้ยน" เรียกให้ดูดีถนอมน้ำใจก็ว่า " สติเฟื่อง" (เกือบฟั่นเฟือน) แต่พูดเรื่องเดียวกันนั้นในตอนนี้ กลับเป็นเรื่องโดดเด่น ค้นพบใหม่ เชื่อถือ เพียงเพราะมีเครื่องมือพิสูจน์  จริงๆแล้วอะไรที่ "มีอยู่" (exist) คือ "มีจริง" เราจะพบเห็นได้หรือไม่ต้องรอเวลา  อะไรที่ "ไม่มี" (non-exist) ยังไงๆก็ ไม่พบ เพราะไม่เคยมี

แม้ปัจจุบันก็เถอะ เชื้อโรค จุลินทรีย์ต่างๆ ไวรัสที่เล็กมาก.......
พูดให้บางกลุ่มฟัง ไม่ต้องเอากล้องมาส่องพิสูจน์ ก็เชื่อ เพราะเชื่อมั่นในคนพูด ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นหมอ ที่เรียนมาโดยตรง เคยเห็นแน่นอน   (ไม่ไช่เพราะไร้ปัญญา)
แต่บางกลุ่มต้องเอากล้องจุลทรรศน์มาส่องให้ดูจึงเชื่อ
บางกลุ่มดูในกล้องเห็นแล้วก็ไม่เชื่ออีก หาว่าแสดงกล ไปโน่น

 นานาจิตตัง !!

ดังนั้น ความคิดแบบโยนิโสมนสิการ คือ คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดมีเหตุผล คิดเร้ากุศล ( พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ๒๕๔๖)  ต้องนำมาใช้ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องฝึก ต้องมี (ให้มากขึ้นๆ) ในยุคปัจจุบันและอนาคต  หากมีเช่นนี้แล้ว การคิด การพูด  การปฏิบัติที่เกิดก็จะเป็นวิถีทางแห่งปัญญา เป็นธรรม สำหรับกลั่นกรองแยกแยะข้อมูลหรือแหล่งข่าวหรือที่เรียก "ปรโตโฆสะ" อีกชั้นหนึ่ง และเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดชอบหรือ "สัมมาทิฐิ" ทำให้มีเหตุผล และไม่งมงาย  เป็นคนมีศาสนา
หมายเหตุ: ปรโตโฆสะ   คือการเรียนรู้จากแหล่งอื่น (learning from others) ได้แก่ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอนเล่าเรียน หาความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากผู้เป็นกัลยาณมิตร
เหมือนข้อคิดจากหนังสือเรื่องสิทธารถะ ที่กล่าวไว้ว่า

"ความรู้ถ่ายทอดให้กันได้ ปัญญาเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดหรือสอนกันไม่ได้  ต้องค้นพบด้วยตัวเองเท่านั้น"

อ้างอิง
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๔๖). พุทธธรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
ของแถม  จาก http://th.wikipedia.org ลองคิดตามค่ะ

" ....โดยทั่วไปเราถือกันว่า วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เริ่มต้นในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ โดยมี "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่" คือ กาลิเลโอ กาลิเลอี เป็นผู้ถอนรื้อและปรับปรุงแนวความคิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สมัยเก่า ที่ยึดกับแนวความคิดของอริสโตเติลทิ้งไป. ณ ขณะนั้น กาลิเลโอได้กำหนดลักษณะสำคัญของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไว้ดังนี้
  • ทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายสาเหตุได้  เช่น ในขณะที่ยังไม่มีความรู้เรื่องแรงโน้มถ่วงนั้น กาลิเลโอไม่สนใจที่จะอธิบายว่า "ทำไมวัตถุถึงตกลงสู่พื้นดิน ?" แต่สนใจคำถามที่ว่า "เมื่อมันตกแล้ว มันจะถึงพื้นภายในเวลาเท่าใด ?"
แต่คนเรามักติดยึด ที่จะหาคำตอบของกะพี้ เป็นส่วนใหญ่ มันเลยไม่ได้อะไร ชิมิ ชิมิ :)

Saturday 10 March 2012

กตัญญูต่อร่างกาย

นักร้องประจำบ้าน เจ้ากางเขน

ช่วงนี้งานใช้สมองค่อนข้างมากต่อเนื่องงานต่องาน เพิ่งได้พักผ่อนมาสองวัน ไม่คิดอะไรให้สมองว่าง เตรียมรับงานใหม่ที่จะต้องเขียนต่ออีก  ชีวิต ร่างกายเราไม่ไช่หุ่นยนต์  หากรู้สึกว่าใช้มากไปในช่วงหนึ่งเพราะงานมาก ก็ต้องพักดูแลตัวเองทันที ขนาดหุ่นยนต์ยังต้องหยุดเครื่องเลย ร้อนมากเครื่องก็พังได้  และหากใช้อย่างไม่ถูกวิธีเครื่องยนต์ก็เสื่อมเร็ว ร่างกายเราก็เช่นกัน สุขภาพจะถดถอย ทรุดโทรมเร็ว เราจึงต้องกตัญญูต่อร่างกายของเราเอง เพราะหากเรามีแต่คำว่างานๆๆๆ จนเป็น "คนครึ่งหุ่น " ไม่รู้จักมีเวลาพักสำหรับชีวิต ก็คงต้องรอพักในโรงพยาบาล ซึ่งแน่นอนถึงเวลานั้นไม่มีเวลา ห่วงงานขนาดไหนก็ต้องพัก แต่ไม่ไช่พักผ่อน แต่เป็นพักฟื้น บางอาการแม้หายแล้วก็ไม่หายขาดต้องกินยาตลอดไปก็มี


เพื่อนผู้อยู่บ้านเดียวกัน เห็นหน้าเขาแล้วยิ้มออกเลย หุหุ

 ดังนั้นตอนที่เราๆท่านๆทั้งหลายโรคภัยไข้เจ็บยังไม่มาเยือน ก็ต้องรู้จักกตัญญูต่อร่างกาย หาเวลาให้เขาได้พักบ้างอย่าตามใจตัวเองมากนัก เตรื่องจักรทำงานนานๆเรายังเป็นห่วงให้มันหยุดพักเลย แล้วชีวิตที่เราเป็นเจ้าของแท้ๆ ทำมไม่รู้จักจัดแบ่งเวลาให้ได้พัก หยุดเบรก มันอยู่ที่ใจ ไม่ต้องไปไหนไกลๆ หรือต้องจ่ายแพงๆ เพราะการพักสมอง พักร่างกาย จิตใจทำง่ายนิดเดียว เช่น ทำในสิ่งที่ชอบและอยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ (แต่คงไม่ไช่งานที่ทำ) ไปเดินเที่ยวในสถานที่ไกล้ๆเช่น วัดไกล้บ้าน หรือวัดที่น่าสนใจ (ศึกษาดูศิลปะในวัด) หรืออะไรก็ได้ที่ทำแล้วใจสบาย หากอยู่ชนบทโชคดีมีป่าธรรมชาติให้เดินพักผ่อน ของ meepole ง่ายมากนั่งที่บ้านฟังเสียงนกทั้งวัน เย็นค่ำเสียงกบ ปาด อึ่งอ่าง คุยกะหมาและสามี (จริงๆ หุ หุ) นั่งดูเด็กๆที่บ้านเขาเล่นกันจะเห็นภาพตลกๆมากมาย  ถ่ายภาพ หรือไม่ก็ นั่งหลับตานิ่งๆหยุดคิดฟุ้งซ่าน ไม่ยุ่งกะงานประจำที่ทำสักสองวัน ชีวิตจะสดใสชึ้นมากทีเดียว ลองทำกันดู 


เด็กๆที่บ้านเล่นชิงบอลกัน

เชื่อเถอะค่ะว่าบางครั้งการไปเที่ยวไกลๆข้ามน้ำข้ามทะเล หรือเที่ยวตามเทศกาลที่ไปแล้วมีคนมากมาย จอแจเต็มหาดทรายชายทะเล หรือฯ เต็มไปหมด บางครั้งเราได้พักแบบไม่ได้พักจริงๆ เพียงแต่รู้สึกดีที่ออกจากงานประจำไปผจญเรื่องไหม่ที่ไม่ซ้ำซาก บางครั้งกลับมาแม้รู้สึกสนุกแต่ก็เหนื่อย เพราะใจกับร่างกายเรายังไม่ได้พักจริงๆเลย  ยังไงลองนั่งในที่ๆสบายๆหลับตานิ่งๆ ใจไม่แก่วงออก สูดลมหายใจเข้าออกช้าๆปกติสม่ำเสมอ ทำได้สัก 15-30 นาทีแบบไม่ต้องฝืน จะรู้สึกว่าสมองจะเบา รู้สึกสบายขึ้นมา นี่เป็นการพักผ่อนแบบประหยัด ปลอดภัย meepole ใช้วิธีนี้เป็นประจำเมื่อรู้สึกสมองเริ่มขึ้นควัน (เครื่องร้อน) บางครั้ง 5-10 นาที ที่หยุด จะทำให้ทำงานต่อแบบสบายๆได้อีกมากเลย


ทุกชีวิตมีวิถีชัวิตที่ไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถพักผ่อนแบบง่ายๆในแนวทางแห่งการพักจิต สงบใจ ได้เหมือนกัน เพราะทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน ขึ้นกับว่าเราจะให้เวลา เราจะจัดสรรปันส่วนอย่างไรให้ชีวิตได้พักเพื่อเป็นการกตัญญูตอบแทนเขาให้อยู่ได้นานๆอย่างมีคุณภาพ อย่าลืมนะคะ :)

พักผ่อนในสวนในบ้าน


"คนเรานี้จะมีความสุขอย่างแท้จริง ต้องดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง จะต้องปฏิบัติถูกต้องต่อตนเอง และต่อสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคม ทางธรรมชาติ และทางวัตถุโดยทั่วไป รวมทั้งเทคโนโลยี
คนที่รู้จักดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง ย่อมมีชีวิตที่ดีงาม และมีความสุขที่แท้ ซึ่งหมายถึง การมีความสุขที่เอื้อต่อการเกิดมีความสุขของผู้อื่นด้วย"

จากหนังสือ วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)