Friday 7 December 2012

ประกาศ เตรียมตัวย้ายบ้าน!!!!

 meepole หายไปหลายวันเนื่องจากไปดูงานด้านพลังงานในต่างประเทศ (จีน และฮ่องกง) และไม่สามารถใช้ net ฟรีใน Novotel ที่ฮ่องกงได้ เลยเงียบไม่เขียนต่อ และแต่ละวันเหนื่อยพอควร มีเรื่องมากมายที่น่าสนใจ จะนำมาบันทึกไว้เป็นตอนๆ.... แต่เนื่องจากพื้นที่สำหรับเก็บภาพ ที่ทางบล็อกนี้ให้คือ 1 GB ซึ่งตอนนี้เต็มไม่สามารถใส่ภาพได้อีก หากจะใช้ต่อต้องจ่ายเดือนละ 2.49 $ /เดือน จึงจำเป็นต้องย้ายออกจากบ้านนี้ ...จะหาบ้านใหม่

จึงขอแจ้งให้มิตรผู้มาเยือนทุกท่านทราบล่วงหน้า จะได้แวะไปเยือนกันอีก และจะรีบหาบ้านใหม่และย้ายบ้านอย่างด่วนภายใน 2 วันนี้ แง แง !!!! จะต้องย้ายแล้วหนอ.....เอิงเอย

++++++ ย้ายแล้วค่ะ +++

ที่อยู่บ้านใหม่ของ  meepole's note  อย่าลืมแวะไปเยือนกันเหมือนเดิมนะคะ :)

http://meepolen2.blogspot.com/

ส่วนของ meepole's silent corner  นั้น link จากด้านข้างนี้ได้เลย นะเอิงเอย :)  พบกันอีกนะเจ้าคะ

Saturday 10 November 2012

พระกฐินพระราชทาน 2555


 
วัดไตรธรรมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ดังนั้นผ้ากฐินทานที่ถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ พระอารามหลวงนั้น ๆ ก็เรียกว่า พระกฐินหลวง

นอกเหนือจากพระอารามหลวงสำคัญ ๆ จำนวน ๑๖ พระอารามแล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขอพระราชทานผ้าพระกฐิน หรือขอจองพระกฐินหลวงแก่พระอารามหลวงอื่นๆไว้ล่วงหน้าได้ โดยกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ดำเนินการขอพระราชทานผ้าพระกฐินให้แก่ผู้แสดงความจำนงขอพระราชทานผ้าพระกฐิน จัดเป็นพระกฐินหลวงประเภทพระกฐินพระราชทาน

ทุกๆปีวัดจึงได้มีกำหนดการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน โดยมีพิธีสมโภชผ้ากฐินพระราชทาน โดยคณะเจ้าภาพนำพุ่มกฐินมาร่วมพิธีสมโภช ปีนี้ตรงกับวันวันเสาร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน โดยชมรมน้ำใสใจจริง จากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและคณะผู้ศรัทธาจากประจวบคีรีขันธ์ และพัทลุง มีนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเป็นประธาน

 
อนุโมทนาบุญผ่านภาพเหล่านี้กันนะคะ

 
 

วันศุกร์ที่ ๙ เวลา ๑๙.๐๐ น. พิธีสมโภชผ้ากฐินพระราชทาน
โดยคณะเจ้าภาพนำพุ่มกฐินมาร่วมพิธีสมโภช

 
 



พระเทพสุธี เจ้าอาวาส และเจ้าคณะภาค ๑๖ และผู้เข้าร่วมสมโภชพระกฐิน






 

 
 
 
 

 
ล่าง: วันเสาร์ที่ ๑๐
เวลา ๑๐.๐๐ น. นายวิญญู ทองสกุล ประธานในพิธี เดินทางถึงบริเวณพิธี หน้าพระอุโบสถ
- ประธานถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานเข้าสู่พระอุโบสถ
 
 
 




ประธานฯ ถวายเครื่องพระกฐินฯ

กรวดน้ำ 
 
 
 
 
พุทธศาสนิกชนร่วมกันถวายปัจจัยและรับหนังสือที่ระลึกจากพระเทพสุธี
 
 
 
หลังเสร็จพิธี รองพัทธนันธ์ และคุณปรีดา ผอ.สนง .พระพุทธศาสนา ถวายหนังสือที่แปลจากอักขระโบราณที่จารึกในไทยให้เป็นภาษาไทย ที่ได้จากมูลนิธิภูมิภโลภิกขุ
 
 



ท้ายสุดก็เป็นการนับปัจจัยทั้งหมดจากจนท.ธนาคาร และคณะกรรมการวัด
 ช่วยกันคนละไม้ละมือ
 
 
 
 
 
 

Thursday 8 November 2012

อย่ายอมให้ชั่วครอบงำ-ความเข้มแข็งของคนดี



ชอบมาก  touch my heart !!......ชอบอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้ได้ด้วย ..
เราทำได้...meepole
 
"...คนดีทำให้คนอื่นดีได้ หมายความว่าคนดี ทำให้เกิดความดีในสังคม คนอื่นก็ดีไปด้วย. ความเลวนั้นจะทำให้คนดีเป็นคนเลวก็ยาก แต่เป็นไปได้.
ถ้าคนดีเข้มแข็งในความดี จะทำให้คนเลวมาทำให้คนดีเป็นคนเลวยาก.สำคัญอยู่ที่ความเข้มแข็งของคนดี..."

...A good person can make another person good; it means that goodness will elicit goodness in society; other person will also be good.
Evil will make a steadfast good person bad only with great difficulty; however, it is not impossible.
 If good people hold on tenaciously to their goodness, it will be difficult for evil people to influence them. The important thing is the strong will of the good person...
         
คัดตัดตอนจากพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙



Monday 5 November 2012

จิตอิสระ...ก็เหนือทุกข์



บทความ คำกล่าว ข้างล่างนี้หากได้อ่านและทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง แล้วลองทำดู หากทำได้ยิ่งมาก ก็จะยิ่งเบา ค่อยๆ ลองทำดูนะคะ

.....ที่กล่าวว่า “ไม่มีอะไรเป็นตัวเรา หรือ ของเรา” นั้น มิได้หมายความว่า เราไม่มีอะไร หรือ ไม่รับอะไร ไม่ใช้สอยบริโภคสิ่งใด เพราะเราคงมีอะไร หรือบริโภคใช้สอยสิ่งใดๆ ไปตามที่สมควรจะมีจะเป็น แต่ภายในใจนั้นไม่มีการยึดถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวตนของมันหรือของใครเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ได้รับความเย็นใจ เบากายเบาใจอยู่ตลอดเวลานั่นเองเรียกว่า เรารับมันไว้เพื่อมาเป็นบ่าวเป็นทาสเรา เพื่ออำนวยความสะดวกสบายเท่าที่จำเป็น ไม่ยอมรับรู้อะไรมากไปกว่านั้น ความมีจึงมีค่าเท่ากับไม่มี หรือความไม่มีจึงมีค่าเท่ากับมี แต่ความสำคัญส่วนใหญ่นั้น เราจะมีจิตใจที่ไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์ร้อน หรือลิงโลดไปเพราะการได้การเสีย จิตใจชนิดนี้ ไม่ต้องการที่จะรับ และไม่ต้องการที่จะปฏิเสธ จึงสงบเป็นปกติอยู่ได้

พุทธศาสนาสอนให้เรามีจิตใจอย่างนี้ คือให้มีจิตใจเป็นอิสระอยู่เหนือวิสัยชาวโลก ไม่หวั่นไหวไปตามสถานการณ์ทุกอย่างในโลก จึงอยู่เหนือความทุกข์ทุกอย่าง ทั้งในการคิด การพูด การทำ เพราะมีจิตใจเป็นอิสระจากกิเลสนั่นเอง จริงอยู่ พุทธศาสนาปฏิเสธว่า ไม่มีอะไรที่ควรสนใจ หรือควรได้ แต่ก็ยอมรับว่า สิ่งที่ควรสนใจหรือควรได้นั้น มีอยู่โดยแน่นอน สิ่งนั้นก็คือ ภาวะแห่งไม่มีทุกข์เลย เป็นภาวะที่เกิดจากความไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นว่า เป็นตัวเราหรือของเรา ไม่ยึดมั่นแม้กระทั่งชีวิต เกียรติยศ ชื่อเสียง หรืออะไรๆ ทั้งสิ้น ที่คนทั่วไปเขายึดถือกัน คือจิตใจเป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง เราเรียกว่าสิ่งนี้อย่างสั้นๆ ว่า ความหลุดพ้น เมื่อถามว่าหลุดพ้นจากอะไร ก็ต้องตอบว่า จากทุกสิ่งที่ครอบงำจิต หรือ ทำจิตให้เป็นอิสระ

ดังนั้นถ้าเรายังมีการยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ ก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" นั่นแหละเป็นบ่วงทุกข์ ที่คล้องหรือร้อยรัดผูกพันเราทั้งหลายอยู่ ถ้าเราตัดบ่วงนี้ให้ขาดไม่ได้อยู่เพียงใด เราก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป
 ลองคิดตรองเลือกดู ที่จะเกิดมาทั้งทีจะให้ทุกข์ตลอดชีวิตหรือจะลองฝึกปฎิบัติให้จิตเป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง แล้วความสุขที่สงบอยู่ไม่ไกลเลย ลองค่อยๆละ ลด การยึดมั่นถือมั่น กันนะคะ แล้วจะอยู่เหนือทุกข์จริงๆค่ะ :)

ที่มา: จาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ

Sunday 28 October 2012

ลดทุกข์.. อย่านึกถึงแต่ตัวเอง


ลดทุกข์.. อย่านึกถึงแต่ตัวเอง ละทุกข์..อย่าเอา"ตัวตน"ออกรับ



เมื่อใดที่เราคิดถึงแต่ตนเอง เมื่อนั้นเรากำลังเอา "ตัวตน" ออกรับทุกอย่างที่มากระทบ ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากสิ่งที่มากระทบนั้นน่าพอใจก็แล้วไป แต่บ่อยครั้งมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่พึงปรารถนา ผลก็คือเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะตัวตนถูกสิ่งนั้นมากระทบอย่างจัง

เมื่อใดที่นึกถึงแต่ตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความไม่พอใจ ความโกรธ ความฉุนเฉียว   เพราะคนที่มักเอาตัวตนออกรับทุกเรื่องจนกลายเป็นนิสัยและทำไปโดยไม่รู้ตัว เวลามีคนมาตักเตือนหรือตำหนิ ปฏิกิริยาแรกสุดที่เกิดขึ้นในความคิดของคนส่วนใหญ่ก็คือ "เขาว่าฉัน ๆ ๆ" จากนั้นก็ปรุงต่อไปว่า "มาพูดอย่างนี้กับฉันได้อย่างไร" สิ่งที่ตามมาก็คือความไม่พอใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การตอบโต้ด้วยวาจาหรือการกระทำที่รุนแรง  แต่เมื่อใดที่นึกถึงคนอื่น คิดถึงปัญหาที่ต้องแก้ จิตใจก็จะไปจดจ่ออยู่กับการหาทางออก ไม่เปิดช่องให้ความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น พูดอีกอย่างคือใช้อารมณ์น้อยลง แต่ใช้ปัญญามากขึ้น

ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องเอาตัวตนมาออกรับคำตำหนิก็ได้ หากเราเพียงแต่เปลี่ยนมุมมองหรือวิธีคิด นั่นคือหันมาสนใจว่า "ที่เขาพูดมานั้นถูกต้องไหม?" สิ่งที่เราจะได้คือความรู้ ถ้าเขาพูดถูก เราก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเราเองว่ามีจุดบกพร่องที่ตรงไหน แต่ถ้าเขาพูดผิด เราก็ได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเขาว่าเขาเป็นคนอย่างไร เป็นคนด่วนตัดสินหรือไม่ เป็นคนติดยึดกับความคิดของตนเพียงใด

การคิดแบบเอาตัวตนออกรับนั้น ทำให้เราสนใจแค่ว่า..ถูกใจหรือไม่ถูกใจฉัน ถ้าถูกใจก็เป็นสุข ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์ แต่เมื่อคิดแบบนี้เป็นนิสัยก็มีแต่จะทำให้ทุกข์ง่าย เพราะเรื่องที่ไม่ถูกใจนั้นมีเยอะ ส่วนเรื่องที่ถูกใจนั้นก็มักสนองกิเลสหรืออัตตาของเราจนเสียคนได้ง่าย

การเอาตัวตนออกรับหรือเอาความถูกใจเป็นเกณฑ์นั้น ทำให้กิเลสหรืออัตตาพองโต จนครอบงำกำหนดชีวิตของเราอย่างกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ ตรงกันข้าม การเอาปัญญาออกรับหรือเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ จะทำให้ตัวตนเบาบาง ความทุกข์เข้ามากระทบไม่ได้ง่ายๆ จึงเป็นชีวิตที่อิสระและสงบเย็นอย่างแท้จริง.

เรียบเรียงจาก  ทำตัวตนให้เบาบาง โดย พระไพศาล วิสาโล ธันวาคม ๒๕๔๖

 

Saturday 13 October 2012

กินปลา โดยไม่ถูกก้าง


 meepole คิดว่าคำสอนและคำอธิบายของท่านพุทธทาสในส่วนนี้สามารถตอบคำถามและแก้ปัญหาของผู้ที่อาจมีความเข้าใจไม่ถูกต้องของผู้ที่คิดหรือต้องการจะปฏิบัติธรรม แต่มีมิจฉาทิฎฐิบางประการเป็นอุปสรรคอยู่ แม้แต่การเข้ใจผิดต่อภิกษุสงฆ์ก็ดี หวังว่าข้อความเหล่านี้คงช่วยให้ท่านทั้งหลายเกิดดวงตาที่รู้แจ้งและบอกต่อ ก่อบุญนะคะ :)

 

“.....ยังมีความเข้าใจผิด อีกอย่างหนึ่ง ที่ทำคนให้เข้าใจพุทธศาสนาผิด จนถึงกับไม่สนใจพุทธศาสนา หรือ สนใจอย่างเสียไม่ได้ ข้อนี้คือ ......ความเข้าใจที่ว่า พุทธศาสนามีไว้สำหรับ คนที่เบื่อโลกแล้ว หรือ เหมาะแก่บุคคลที่ละจากสังคม ไปอยู่ตามป่า ตามเขา ไม่เอาอะไรอย่างชาวโลกๆ อีก ข้อนี้ มีผลทำให้คนเกิดกลัวขึ้น ๒ อย่าง คือ
  •  กลัวว่า จะต้องสลัดสิ่งสวยงาม เอร็ดอร่อย สนุกสนาน ในโลกโดยสิ้นเชิง         
  •  กลัวความลำบาก เนื่องจาก การที่จะต้องไปอยู่ในป่า อย่างฤษี
 
 ส่วนคนที่ไม่กลัวนั้น ก็กลับมีความยึดถือบางอย่าง มากขึ้นไปอีก คือ ยึดถือการอยู่ป่า ว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด สำหรับผู้จะปฏิบัติธรรมจะมีความสำเร็จก็เพราะออกไปทำกันในป่าเท่านั้น การคิดเช่นนี้ เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการปฏิบัติธรรมะเพราะโดยปกติคนย่อมติดอยู่ในรสของกามคุณ ในบ้านในเรือน หรือการเป็นอยู่อย่างโลกๆ พอได้ยินว่าจะต้องสละสิ่งเหล่านี้ไป ก็รู้สึกมีอาการเหมือนกับจะพลัดตกลงไปในเหวลึก และมืดมิด มีทั้งความเสียดาย และความกลัวอยู่ในใจ จึงไม่สามารถได้รับประโยชน์ จากพุทธศาสนา เพราะมีความต่อต้านอยู่ในจิตใจ หรือมีความรู้สึกหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว

เมื่อคนคิดกันว่า จะเข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนาไม่ได้ ถ้าไม่ไปอยู่ในป่า จึงมีแต่เพียงการสอน และการเรียนเพื่อประโยชน์แก่อาชีพ หรือ เพื่อผลทางวัตถุไป จะสอน หรือจะเรียนกันสักเท่าไรๆ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนาได้ พุทธศาสนาจึงหมดโอกาสที่จะทำประโยชน์แก่ บุคคลผู้ครองเรือนได้เต็มตามที่พุทธศาสนาอันแท้จริงจะมีให้

พุทธศาสนาไม่ได้มีหลักเช่นนั้น การที่มีคำกล่าวถึงภิกษุอยู่ในป่า การสรรเสริญประโยชน์ของป่า หรือแนะให้ไปทำกรรมฐานตามป่านั้น มิได้หมายความว่าจะต้องไปทนทรมานอยู่ในป่าอย่างเดียว แต่หมายเพียงว่า ป่าเป็นแหล่งว่างจากการรบกวน ป่าย่อมอำนวยความสะดวก และส่งเสริมการกระทำทางจิตใจ ถ้าใครสามารถหาสถานที่อื่นซึ่งมิใช่ป่า แต่อำนวยประโยชน์อย่างเดียวกัน ได้แล้วก็ใช้ได้

แม้ภิกษุในพุทธศาสนา ก็ยังเกี่ยวข้องอยู่กับชาวบ้าน มิใช่อยู่ป่าชนิดไม่พบใครเลยจนตลอดชีวิต เพราะจะต้องช่วยเหลือชาวบ้าน ให้อยู่ในโลกได้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าจะพูดโดยสำนวนอุปมา ก็กล่าวได้ว่า "ให้รู้จักกินปลา โดยไม่ถูกก้าง" พุทธศาสนามีประโยชน์แก่โลกโดยตรง ก็คือ ช่วยให้ชาวโลกไม่ต้องถูกก้างของโลกทิ่มตำ ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ก็เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับโลกตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน หรือศึกษาโลกพร้อมกันไปในตัว จนกระทั่งรู้แจ้งโลก ซึ่งเรียกกันว่า "โลกวิทู" จนสามารถขจัดความทุกข์ ทางโลกๆ ออกไปได้ และต้องการให้ ทุกคนเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ให้หนีโลก หรือพ่ายแพ้แก่โลก แต่ให้มีชีวิตอยู่ในโลก อย่างมีชัยชนะ อยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้น การที่ใครๆจะมากล่าวว่า ถ้าจะปฏิบัติธรรมะแล้ว ต้องทิ้งบ้านเรือน เปิดหนีเข้าป่า ก็เป็นการกล่าวตู่พุทธศาสนา ด้วยคำเท็จอย่างยิ่ง เพราะสถานที่ใดที่มีการพิจารณาธรรมะได้ ที่นั้นก็มีการศึกษา และปฏิบัติธรรมะได้ พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนกลัว หรือหลบหลีกสิ่งต่างๆในโลก และไม่ได้สอนให้ มัวเมาในสิ่งเหล่านั้น แต่สอนให้รู้จักวิธีที่จะทำตัวให้มีอำนาจ อยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้น เป็นอันกล่าวได้ว่า จะเป็นใครก็ตามย่อมสามารถใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือให้ตนอยู่ในโลกได้ โดยไม่ถูกก้างของโลกทิ่มแทง
หมู่นกจ้อง มองเท่าใด ไม่เห็นฟ้า
ถึงฝูงปลา ก็ไม่เห็น น้ำเย็นใส
ไส้เดือนมอง ไม่เห็นดิน ที่กินไป
หนอนก็ไม่ มองเห็นคูต ที่ดูดกิน
 
คนทั่วไป ก็ไม่ มองเห็นโลก
ต้องทุกข์โศก หงุดหงิด อยู่นิจสิน
ส่วนชาวพุทธ ประยุกต์ธรรม ตามระบิล
เห็นหมดสิ้น ทุกสิ่ง ตามจริงเอย
ที่มา: จาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ

Tuesday 2 October 2012

ข้อคิดจากภาพ

 
 
by meepole
 
 
 
 
สมัยนี้พวกเราเอาแต่ไหว้
พอบอกให้ ประพฤติธรรม มือค้ำหู
 
พูดง่ายๆคือเราเอาแต่กระพี้ ไม่สนใจแก่นที่แท้จริง
 
ภาพจากวัดเขาแก้ว

Tuesday 18 September 2012

ภาพชีวิต..ข้อคิดสังคม


ตอนเช้าตรู่หากใครผ่านถนนสายนี้ในบริเวณไกล้มหาวิทยาลัยที่ meepole ทำงาน ซึ่งเป็นถนนเส้นหลัก ในช่วงไกล้ 7.00 น. การจราจรคับคั่งเพราะเป็นช่วงเวลาเข้าโรงเรียน ก็จะเห็นภาพนี้ เป็นประจำ..... ยายแก่ๆคนหนึ่ง เข็นรถเข็นที่มีถังพลาสติกเปล่า 2-3 ใบ ในถังมีเศษผ้าขี้ริ้ว บางครั้งจะมีผลไม้ติดมาด้วยเช่น กล้วย มะละกอ และหน้ารถจะมีเด็กชายคนหนึ่งที่ไม่เด็กนักแต่งชุดนักเรียนนั่งเฉยๆอยู่ข้างหน้า ทราบว่าเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ก็น่าจะอายุ 13-14 ปี แต่ตัวโต



ภาพนี้ถ่ายผ่านกระจกรถขณะรถแล่นอยู่เห็นปุ๊ปสะกิดใจมาก เลยไปจอดรอข้างหน้าเพื่อเก็บภาพจึงได้ภาพบน ปรากฎว่ายายไม่เลี้ยวเข้าซอย กลับเข็นรถเข็นเลยไปทางถนนสายหลัก แต่เป็นทางชันขึ้นเล็กน้อย และเป็นทางแยกไฟแดง ยายก็ต้องรีบเข็นกลัวไฟเขียว (ภาพล่าง)



ภาพล่าง ยายเข็นถึงทางเข้าโรงเรียนด้านหน้า วางพักรถเข็นเพื่อให้หลานชายตัวโตลง ยายนั่งพักเหนื่อย หลานสะพายกระเป๋าแล้วเดินเข้าโรงเรียนเลย ไม่มีการแสดงความขอบคุณหรือยกมือไหว้ยาย


 
 
เมื่อหลานเดินเข้าโรงเรียนแล้วยายนั่งพักเหนื่อยอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นจัดของ ที่ไม่มีอะไรนอกจากเลื่อนกล้วยเครือนั้น meepole ก็เดินลงไปทักทายและถามยายว่ากล้วยนั้นขายไหม จริงๆแล้วไม่ตั้งใจว่าจะได้กล้วยนั้นเพราะไม่ค่อยทานกล้วยนี้ ชอบกล้วยเล็บมือนาง แต่สงสารยาย ยายน่ารัก ถามกลับว่าจะเอาเหรอ meepole บอกเอาจ๊ะ ยายบอกว่าเดี๋ยวเอาหวีอื่นนะสวย กว่านี้แล้วก็หยิบกล้วยหวีที่ meepole มองไม่เห็นจากหลังถังมาให้ meepole ก็ถามว่ากี่บาทยาย ยายตอบคำที่ให้ความรู้สึกโดนใจมากว่า "ยายไม่ได้ซื้อมา ตัดมาจากต้นหลังวัด" meepole บอกว่าไม่เป็นไรยายคิดมาก็แล้วกัน ยายบอกว่าขายถูกๆนะ 10 บาทก็พอ meepole ให้ยายไป 20 บอกไม่ต้องทอน แล้วคุยถามยายว่าทำไมยายไม่ให้หลานช่วยเข็นรถ เพราะเขาโตแล้ว ยายตอบแบบคนรักหลานบอกว่า "ให้เขานั่งถ่วงรถ"  เลยเป็นงงๆ ว่าทำไมต้องถ่วงเพราะไม่มีของหนักบนรถนอกจากหลานของยาย แต่คิดแล้วก็เฮ้อ! กรรมเป็นของใครก็ของคนนั้น ก็ไม่ซักถามอะไรต่อไป เพียงแต่เกิดความรู้สึกหลายอย่าง...แล้วถามว่ายายไปไหนต่อ ยายตอบว่าไปรับจ้างเขาเช็ดล้าง แล้วแต่เขาจ้าง เลยไม่สงสัยว่าทำไมยายต้องมีถังและผ้าขี้ริ้ว



แต่สิ่งแรกที่เข้ามาในใจคือ นี่คือความรักหลานหรือทำร้ายหลานกันแน่ แม้ทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ...โรงเรียน คุณครูเคยสอนเด็กให้มีสำนึก ช่วยเหลือผู้สูงอายุ มีน้ำใจ มีสัมมาคารวะ หรือไม่ เป็นไปไม่ได้ที่ครูในโรงเรียนจะไม่เคยเห็นภาพนี้ เพราะปัจจุบันนี้ครูต้องมายืนตอนเช้ารับเด็กแถวหน้าโรงเรียน  meepole มองว่าการศึกษากำลังสอนอะไร หรือไม่ได้สอนอะไรอะไร   ทำให้เด็กสามารถนั่งรถให้ยายเข็นได้อย่างไม่รู้สึกอะไรหรือสงสารเห็นใจยายที่สูงวัยแล้ว เพราะวันถัดมา meepole ติดตามดูอีก มาทันเห็นภาพสะเทือนใจอีก เพราะเห็นยายนั่งพักที่ข้างฟุตบาทก่อนถึงทางแยกและหลานชายก็นั่งแถวนั้น เลยรู้เพิ่มว่ายายมีการนั่งพักเหนื่อยระหว่างทาง เราขับรถเลยเข้ามหาวิทยาลัยก่อน แล้วรีบออกมา วันนี้ยายเข็นรถเข้ามาถนนซอยเข้าด้านข้างของโรงเรียน เพราะตอนนั้นทางตรงไฟเขียวรถเลี้ยว และตรงออกไปตลอด ยายจึงเลี้ยวแทนที่จะตรง meepole กลับออกมาเห็น เลยจอดต่อคิวเพราะรถติดยาว ก็ทันเห็นยายกำลังออกแรงเข็นจนหลังแอ่นสุดแขน เพราะทางถนนด้านข้างโรงเรียนนี้เป็นทางชันขึ้น เลยเข็นหนัก meepole เห็นเด็กชายคนนั้นนั่งหน้ารถหน้านิ่วคิ้วขมวด ปากพูดอะไรขมุบขมิบเหมือนดุอะไรยาย แต่ที่รับไม่ได้คือทำไมเขาไม่ลงมาจากรถแล้วช่วยยายเข็น หรือถ้าไม่ช่วยก็แค่ลงจากรถให้รถเข็นเบาก็พอ

นี่เป็นแค่ภาพสะท้อนของครอบครัวหนึ่ง ที่พยายามจะให้ความสบายกับหลาน คนมีเงินมีรถจักรยานยนต์ รถยนต์ หรือนั่งรถประจำทางว่ากันตามกำลังมาส่ง คนจนก็อยากให้ลูกหลานสบายเข็นรถให้นั่ง ถ้าเป็นเด็กเล็ก เด็กอนุบาลก็เข้าใจ..แต่นี่เด็กโตพอที่สามารถช่วยพ่อแม่ทำงานได้แล้ว ช่วยดูแลยายได้แล้ว ....หากโรงเรียน คุณครูช่วยเอาใจใส่อบรมสอนเด็กให้มีสำนึก รู้จักการมีน้ำใจ มีความรักเอื้ออาทร ภาพนี้ก็คงไม่น่าจะเห็น...

สังคมเราปัจจุบันไม่ว่ารวยจน ไม่ค่อยมีเวลาอบรมสั่งสอนลูก แต่ให้เพื่อน ให้คอมพิวเตอร์เกม ให้สังคมเทียมในเฟสบุ๊คช่วยเลี้ยงลูกหลาน จนตอนนี้ความสัมพันธ์เยื่อใยในครอบครัวที่มีต่อกันลดน้อยลง หรือแทบไม่มีเลย  ..ในบางครอบครัว ทุกคนต่างคนต่างอยู่ทำมาหากิน บ้างก็อ้างหาเงินให้ลูก จนไม่มีเวลาของครอบครัว กว่าจะรู้ว่าครอบครัวไม่เหลือเยื่อใยกันแล้ว จิตกระด้างไปหมด สายเสียแล้วที่จะมีความรู้สึกอบอุ่น เข้าใจกัน จึงมีข่าวลูกทำร้ายบุพการี บุพการีทำร้ายลูกหลาน ให้เห็นตามข่าวแล้วก็เศร้า โทษใครได้นอกจากคนในครอบครัวที่รักเป็นพิษ รักลูกผิดทาง รักตัวเอง แล้วอ้างทำเพื่อลูก สะสมเงินจนลืมสะสมรักและความอบอุ่นที่ต้องมีให้กัน สุดท้ายสิ่งที่ทำมาทั้งหมดในวิถีที่ไม่ถูกต้อง ก็เป็นอันต้องพบจุดจบที่ไม่พึงประสงค์ หรือพบทุกข์ในที่สุด

มาเพิ่มเติมเพราะมีอจ.น้องในมหาวิทยาลัยมาถามข่าวว่า ยายคนนั้นยังอยู่ไหม..ตอนนั้นไม่เห็นยายมาเป็นเวลานานมากหลายเดือนทีเดียว จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบังเอิญใช้เส้นทางลัดข้างวัดเพื่อเข้าไปยังมหาวิทยาลัยอีกแห่ง เห็นยายมากับหลาน ดีใจทียังแข็งแรง เพราะเห็นยายก้มหลังโค้งเข็นรถเอง หลานชายเดินตัวตรงสูงสง่า ข้างๆยาย แต่ไม่ใส่ชุดนักเรียน อาจจะไม่ได้เรียนแล้ว หวังว่าวันหนึ่งคงจะได้เจออีกและเห็นหลานช่วยยายเข็นรถ หรือเข็นรถให้ยายได้นั่งพักบ้าง.....15 Nov

Saturday 8 September 2012

วัดถ้ำทองพรรณรา

ไปถ้ำพรรณรา มีโอกาสอย่าพลาดไปกราบพระ
 
 ด้านหน้าถ้ำ

 

ไปวัดถ้ำทองพรรณรา อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช ในพิธีวางศิลาฤกษ์ พระอุโบสถวัด ดีใจมากที่มีโอกาสได้ไป เพราะเคยผ่านอำเภอนี้มานับครั้งไม่ถ้วนแต่ไม่ได้มีโอกาสแวะเข้าไปและไม่ทราบว่ามีวัดนี้ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่โชคดีที่ได้ไป เพราะท่านเจ้าคณะภาค 16 ไปเป็นประธานฝ่ายสงฆ์  พระอาจารย์ไปถึงก่อนเวลามาก เราและ link เลยได้โอกาสเดินชมถ้ำในวัด ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็คิดว่าเหมือนถ้ำทั่วๆไป ........
 
เดินไปตามทางมองสะดุดกับภาพที่เห็น เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาก ปางไสยาสน์ งามมากผิดจากที่เคยเห็นๆมา โดยเฉพาะพระพักตร์ที่อิ่มเอิบ  ที่เขียนไว้บนป้ายที่ลบเลือนเต็มที อ่านได้พอเห็น ว่าสร้างเมื่อพ.ศ.1300 เสร็จเมื่อพ.ศ.1316 บูรณะเมื่อพ.ศ. 2530 พระพุทธรูปประดิษฐานบนลานกว้างที่วัดสร้างไว้ในช่องหินของส่วนล่างถ้ำ 
 
งามมาก
 
 
 link  ช่วยกวาดลานด้านหน้าองค์พระเพราะใบไม้หล่นมากพอควร สักครู่มีคนมาช่วยกวาดเพิ่ม กวาดเสร็จก็เริ่มสำรวจถ้ำ ปีนขึ้นไปเรื่อยๆ มีกระไดให้ไต่แต่ละขั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน ทางเดินขึ้นบางช่วงธรรมชาติมากจน...บรื๋อ เงียบวังเวง  โชคดีตอนขึ้นไป มีคนตามมา 2 คนเลยทำให้ลดความกลัวไปได้บ้าง
 
ข้างบนมีถ้ำสองช่วง ช่วงแรกเป็นถ้ำปู่ฤษี มืดมาก ภาพนี้เอาไฟจากโทรศัพท์ส่องแล้วถ่าย (ขออนุญาตแล้ว หุ หุ) (วันที่ไปไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปไปเพราะไม่รู้มาก่อนว่าจะไปที่วัดที่มีถ้ำ ภาพเหล่านี้ได้จากใช้โทรศัพท์ถ่าย)  
มีทางราบช่วงสั้นๆให้เดินพัก                                        พ่อปู่ฤษี
 
สภาพเป็นธรรมชาติหินงอกหินย้อยสวยงาม
ช่วงทางแคบขึ้นต่อไปอีก และหลังจากนี้จะเริ่มดิ่งลง


นี่เป็นถ้ำช่วงสุดท้ายที่ดิ่งลงไปชันมาก ช่วงนี้กระไดก้าวละฟุต
 


มุมเงยที่สูงชันขึ้นไป
ช่วงท้ายสุด meepole ไม่ได้ลงไปยืนดูลุ้นคนลงเพราะชันมาก เป็นถ้ำช่วงสุดท้าย ดิ่งลงไปเรื่อยๆ
สำรวจเสร็จสรุปแต่ละช่วงกระไดตอนแรกมี 43 ขั้น ช่วงยาวมีเป็นร้อยขั้น link ขยันนับจำนวนกระไดได้จนครบ 397 ขั้น ตกลงขึ้นลงได้ 794 ขั้น ตอนขาลงต้องพักมากกว่าตอนขึ้นเพราะช่วงกระไดที่ตื้นมากทำให้ก้าวลงไม่เต็มที่เข่าย่อมากจนเจ็บเข่า เลยบางช่วงต้องเดินลงแบบปูคือเดินเอาด้านข้างลง :)
 
ช่วงขึ้น-ลงที่ยาวไกล
ช่วงขาลงมาถ่ายไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่มือถือหอยสังข์ ยืนสง่าบนหน้าผา
อันนี้ขณะถ่ายขาสั่นเสียวสันหลัง

 
โชคดีมากที่ได้มากราบพระพุทธรูป ได้มาเห็นสถานที่สงบร่มเย็น ลงมาก็ได้ยินประกาศจากพิธีกรว่าจะเริ่มพิธีวางศิลาฤกษ์ และสักครู่เสียงประทัดดังตูมตามๆ เดินไปดูเห็นคนมุงกันแวะเข้าไปเห็นสองจุด จุดหนึ่งคนมุงกันเอาเหรียญใส่ในแท่นศิลา อีกจุดมุงดูเลขจากหางประทัด เพราะวันที่ไปลอตเตอรี่ออกพอดี
 


เลขเด็ดที่ชาวบ้านมามุงกัน
 
 (แอบทราบจากพลขับที่ถูก กินเรียบว่าออกไม่ตรง งวดนั้นออก 967 นี่แหละน้า เชื่อกระทั่งหางประทัด หุ หุ)
 
 
ศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน

meepole ได้ร่วมทำบุญในการสร้างพระอุโบสถใหม่ครั้งนี้ด้วย  อนุโมทนาสาธุร่วมกัน และ meepole จะกลับไปอีกเพราะยังขาดอีกประมาณ 30 ขั้นช่วงท้ายสุดที่จะลงไปในถ้ำใหญ่ สรุปว่าต้องไต่กระไดอีกครั้ง 300 กว่าขั้น เพื่อ 30 ขั้นสุดท้ายไม่งั้นแก่กว่านี้ อาจต้องรออีกวันจึงไต่กลับออกลงมาถึงข้างล่าง  สังขารหนอ :)