Sunday, 28 October 2012

ลดทุกข์.. อย่านึกถึงแต่ตัวเอง


ลดทุกข์.. อย่านึกถึงแต่ตัวเอง ละทุกข์..อย่าเอา"ตัวตน"ออกรับ



เมื่อใดที่เราคิดถึงแต่ตนเอง เมื่อนั้นเรากำลังเอา "ตัวตน" ออกรับทุกอย่างที่มากระทบ ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากสิ่งที่มากระทบนั้นน่าพอใจก็แล้วไป แต่บ่อยครั้งมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่พึงปรารถนา ผลก็คือเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะตัวตนถูกสิ่งนั้นมากระทบอย่างจัง

เมื่อใดที่นึกถึงแต่ตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความไม่พอใจ ความโกรธ ความฉุนเฉียว   เพราะคนที่มักเอาตัวตนออกรับทุกเรื่องจนกลายเป็นนิสัยและทำไปโดยไม่รู้ตัว เวลามีคนมาตักเตือนหรือตำหนิ ปฏิกิริยาแรกสุดที่เกิดขึ้นในความคิดของคนส่วนใหญ่ก็คือ "เขาว่าฉัน ๆ ๆ" จากนั้นก็ปรุงต่อไปว่า "มาพูดอย่างนี้กับฉันได้อย่างไร" สิ่งที่ตามมาก็คือความไม่พอใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การตอบโต้ด้วยวาจาหรือการกระทำที่รุนแรง  แต่เมื่อใดที่นึกถึงคนอื่น คิดถึงปัญหาที่ต้องแก้ จิตใจก็จะไปจดจ่ออยู่กับการหาทางออก ไม่เปิดช่องให้ความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น พูดอีกอย่างคือใช้อารมณ์น้อยลง แต่ใช้ปัญญามากขึ้น

ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องเอาตัวตนมาออกรับคำตำหนิก็ได้ หากเราเพียงแต่เปลี่ยนมุมมองหรือวิธีคิด นั่นคือหันมาสนใจว่า "ที่เขาพูดมานั้นถูกต้องไหม?" สิ่งที่เราจะได้คือความรู้ ถ้าเขาพูดถูก เราก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเราเองว่ามีจุดบกพร่องที่ตรงไหน แต่ถ้าเขาพูดผิด เราก็ได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเขาว่าเขาเป็นคนอย่างไร เป็นคนด่วนตัดสินหรือไม่ เป็นคนติดยึดกับความคิดของตนเพียงใด

การคิดแบบเอาตัวตนออกรับนั้น ทำให้เราสนใจแค่ว่า..ถูกใจหรือไม่ถูกใจฉัน ถ้าถูกใจก็เป็นสุข ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์ แต่เมื่อคิดแบบนี้เป็นนิสัยก็มีแต่จะทำให้ทุกข์ง่าย เพราะเรื่องที่ไม่ถูกใจนั้นมีเยอะ ส่วนเรื่องที่ถูกใจนั้นก็มักสนองกิเลสหรืออัตตาของเราจนเสียคนได้ง่าย

การเอาตัวตนออกรับหรือเอาความถูกใจเป็นเกณฑ์นั้น ทำให้กิเลสหรืออัตตาพองโต จนครอบงำกำหนดชีวิตของเราอย่างกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ ตรงกันข้าม การเอาปัญญาออกรับหรือเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ จะทำให้ตัวตนเบาบาง ความทุกข์เข้ามากระทบไม่ได้ง่ายๆ จึงเป็นชีวิตที่อิสระและสงบเย็นอย่างแท้จริง.

เรียบเรียงจาก  ทำตัวตนให้เบาบาง โดย พระไพศาล วิสาโล ธันวาคม ๒๕๔๖

 

Saturday, 13 October 2012

กินปลา โดยไม่ถูกก้าง


 meepole คิดว่าคำสอนและคำอธิบายของท่านพุทธทาสในส่วนนี้สามารถตอบคำถามและแก้ปัญหาของผู้ที่อาจมีความเข้าใจไม่ถูกต้องของผู้ที่คิดหรือต้องการจะปฏิบัติธรรม แต่มีมิจฉาทิฎฐิบางประการเป็นอุปสรรคอยู่ แม้แต่การเข้ใจผิดต่อภิกษุสงฆ์ก็ดี หวังว่าข้อความเหล่านี้คงช่วยให้ท่านทั้งหลายเกิดดวงตาที่รู้แจ้งและบอกต่อ ก่อบุญนะคะ :)

 

“.....ยังมีความเข้าใจผิด อีกอย่างหนึ่ง ที่ทำคนให้เข้าใจพุทธศาสนาผิด จนถึงกับไม่สนใจพุทธศาสนา หรือ สนใจอย่างเสียไม่ได้ ข้อนี้คือ ......ความเข้าใจที่ว่า พุทธศาสนามีไว้สำหรับ คนที่เบื่อโลกแล้ว หรือ เหมาะแก่บุคคลที่ละจากสังคม ไปอยู่ตามป่า ตามเขา ไม่เอาอะไรอย่างชาวโลกๆ อีก ข้อนี้ มีผลทำให้คนเกิดกลัวขึ้น ๒ อย่าง คือ
  •  กลัวว่า จะต้องสลัดสิ่งสวยงาม เอร็ดอร่อย สนุกสนาน ในโลกโดยสิ้นเชิง         
  •  กลัวความลำบาก เนื่องจาก การที่จะต้องไปอยู่ในป่า อย่างฤษี
 
 ส่วนคนที่ไม่กลัวนั้น ก็กลับมีความยึดถือบางอย่าง มากขึ้นไปอีก คือ ยึดถือการอยู่ป่า ว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด สำหรับผู้จะปฏิบัติธรรมจะมีความสำเร็จก็เพราะออกไปทำกันในป่าเท่านั้น การคิดเช่นนี้ เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการปฏิบัติธรรมะเพราะโดยปกติคนย่อมติดอยู่ในรสของกามคุณ ในบ้านในเรือน หรือการเป็นอยู่อย่างโลกๆ พอได้ยินว่าจะต้องสละสิ่งเหล่านี้ไป ก็รู้สึกมีอาการเหมือนกับจะพลัดตกลงไปในเหวลึก และมืดมิด มีทั้งความเสียดาย และความกลัวอยู่ในใจ จึงไม่สามารถได้รับประโยชน์ จากพุทธศาสนา เพราะมีความต่อต้านอยู่ในจิตใจ หรือมีความรู้สึกหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว

เมื่อคนคิดกันว่า จะเข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนาไม่ได้ ถ้าไม่ไปอยู่ในป่า จึงมีแต่เพียงการสอน และการเรียนเพื่อประโยชน์แก่อาชีพ หรือ เพื่อผลทางวัตถุไป จะสอน หรือจะเรียนกันสักเท่าไรๆ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนาได้ พุทธศาสนาจึงหมดโอกาสที่จะทำประโยชน์แก่ บุคคลผู้ครองเรือนได้เต็มตามที่พุทธศาสนาอันแท้จริงจะมีให้

พุทธศาสนาไม่ได้มีหลักเช่นนั้น การที่มีคำกล่าวถึงภิกษุอยู่ในป่า การสรรเสริญประโยชน์ของป่า หรือแนะให้ไปทำกรรมฐานตามป่านั้น มิได้หมายความว่าจะต้องไปทนทรมานอยู่ในป่าอย่างเดียว แต่หมายเพียงว่า ป่าเป็นแหล่งว่างจากการรบกวน ป่าย่อมอำนวยความสะดวก และส่งเสริมการกระทำทางจิตใจ ถ้าใครสามารถหาสถานที่อื่นซึ่งมิใช่ป่า แต่อำนวยประโยชน์อย่างเดียวกัน ได้แล้วก็ใช้ได้

แม้ภิกษุในพุทธศาสนา ก็ยังเกี่ยวข้องอยู่กับชาวบ้าน มิใช่อยู่ป่าชนิดไม่พบใครเลยจนตลอดชีวิต เพราะจะต้องช่วยเหลือชาวบ้าน ให้อยู่ในโลกได้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าจะพูดโดยสำนวนอุปมา ก็กล่าวได้ว่า "ให้รู้จักกินปลา โดยไม่ถูกก้าง" พุทธศาสนามีประโยชน์แก่โลกโดยตรง ก็คือ ช่วยให้ชาวโลกไม่ต้องถูกก้างของโลกทิ่มตำ ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ก็เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับโลกตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน หรือศึกษาโลกพร้อมกันไปในตัว จนกระทั่งรู้แจ้งโลก ซึ่งเรียกกันว่า "โลกวิทู" จนสามารถขจัดความทุกข์ ทางโลกๆ ออกไปได้ และต้องการให้ ทุกคนเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ให้หนีโลก หรือพ่ายแพ้แก่โลก แต่ให้มีชีวิตอยู่ในโลก อย่างมีชัยชนะ อยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้น การที่ใครๆจะมากล่าวว่า ถ้าจะปฏิบัติธรรมะแล้ว ต้องทิ้งบ้านเรือน เปิดหนีเข้าป่า ก็เป็นการกล่าวตู่พุทธศาสนา ด้วยคำเท็จอย่างยิ่ง เพราะสถานที่ใดที่มีการพิจารณาธรรมะได้ ที่นั้นก็มีการศึกษา และปฏิบัติธรรมะได้ พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนกลัว หรือหลบหลีกสิ่งต่างๆในโลก และไม่ได้สอนให้ มัวเมาในสิ่งเหล่านั้น แต่สอนให้รู้จักวิธีที่จะทำตัวให้มีอำนาจ อยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้น เป็นอันกล่าวได้ว่า จะเป็นใครก็ตามย่อมสามารถใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือให้ตนอยู่ในโลกได้ โดยไม่ถูกก้างของโลกทิ่มแทง
หมู่นกจ้อง มองเท่าใด ไม่เห็นฟ้า
ถึงฝูงปลา ก็ไม่เห็น น้ำเย็นใส
ไส้เดือนมอง ไม่เห็นดิน ที่กินไป
หนอนก็ไม่ มองเห็นคูต ที่ดูดกิน
 
คนทั่วไป ก็ไม่ มองเห็นโลก
ต้องทุกข์โศก หงุดหงิด อยู่นิจสิน
ส่วนชาวพุทธ ประยุกต์ธรรม ตามระบิล
เห็นหมดสิ้น ทุกสิ่ง ตามจริงเอย
ที่มา: จาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ

Tuesday, 2 October 2012

ข้อคิดจากภาพ

 
 
by meepole
 
 
 
 
สมัยนี้พวกเราเอาแต่ไหว้
พอบอกให้ ประพฤติธรรม มือค้ำหู
 
พูดง่ายๆคือเราเอาแต่กระพี้ ไม่สนใจแก่นที่แท้จริง
 
ภาพจากวัดเขาแก้ว