Wednesday 30 November 2011

การขวนขวายในกิจที่ชอบก่อให้เกิดบุญ (8)




การขวนขวายในกิจที่ชอบ คือ การช่วยในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อส่วนรวม จัดเป็นบุญประการหนึ่ง เช่น ช่วยเขาสร้างสะพาน สร้างถนน ขุดคลอง ขุดสระ ขุดบ่อน้ำ สร้างศาลา สร้างวัด สร้างโรงพยาบาล ปลูกต้นไม้ ทำถนนหนทางให้สะอาด ช่วยกวาดวัด  ล้างห้องน้ำ หรือช่วยงานบวชนาค งานกฐิน ช่วยงานทำบุญเลี้ยงพระ ช่วยนิมนต์พระ หรือช่วยขับรถรับส่งพระ หรือคนที่มาช่วยในงาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้จัดเป็นบุญทั้งสิ้น  ยิ่งตอนนี้น้ำท่วมเริ่มลดแล้วความเสียหายทั้งของส่วนตัวและสาธารณะมีมากมาย ใครช่วยได้คนละไม้ละมือ ย่อมเกิดบุญทั้งสิ้นเ ช่น เก็บกวาดขยะ ช่วยขัดล้างวัด หรือสถานที่ต่างๆ โอกาสเช่นนี้ได้บุญมากเพราะทุกส่วนมีความเดือดร้อนมาก
 

 แม้การช่วยเหลือคนเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ สัตว์ที่อดอาหาร ก็เป็นบุญ แม้แต่ช่วยนำคนแก่ข้ามถนนให้ปลอดภัย และชี้ทางให้แก่คนหลงทางก็จัดเป็นเวยยาวัจจมัย อันจัดเป็นบุญทั้งสิ้น

ผลของบุญข้อนี้มีมาก เช่น ไปที่ใดก็จะได้รับความสะดวกได้รับความช่วยเหลือ ไม่ขัดข้องเดือดร้อน ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ มฆมาณพพร้อมด้วยเพื่อน 33 คน ที่สร้างถนน และสร้างศาลา เพื่อสาธารณประโยชน์แก่คนทั้งหลายแล้วไปเกิดในสรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งกล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบท เป็นตัวอย่างของบุญข้อนี้

แต่ที่แน่นอนในชาตินี้ที่เห็นและรู้สึกได้คือ ทำแล้วสุขใจ สบายใจ ใจเกิดปีติทันทีที่เห็นสิ่งดีๆที่ได้ทำไป ความรู้สึกเช่นนั้นคือสวรรค์บนโลกมนุษย์แล้ว

ที่มาภาพ: komchadluek.net

Sunday 27 November 2011

ไถ่ชีวิตวัวแม่ลูก

วัวแม่ลูกที่รอดวันนี้ ถูกจูงออกมาจากที่เตรียมฆ่ามาให้เราดู


บ่าย 4 โมงเย็นพระอาจารย์ คุณละออ บุญสา คุณนิยม link และ meepole ไปที่โรงฆ่าวัว เพื่อร่วมบุญกันช่วยไถ่ชีวิตวัว ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงของเรา ตอนแรกตั้งใจจะไปเมื่อวานแต่พระอาจารย์ติดธุระตอนค่ำเลยบอกว่ามาวันนี้ก็ได้ จะได้ไม่รีบ เราได้อธิษฐานในใจว่าขอให้ได้ช่วยวัวแม่ลูกอีกเหมือนปีที่แล้ว เมื่อเช้าก็ตั้งใจไว้เช่นนั้นอีก เมื่อไปถึงโรงฆ่าสัตว์ ก็ให้จนท.ที่จัดการเกี่ยวกับการไถ่วัวเข้าไปดูวัว  ปีนี้ไม่เข้าไปแล้ว ปีที่แล้วใจคอไม่ดีและเศร้าเวลาเห็นสภาพรอบๆนั้น ปีนี้เลยตั้งใจไม่เข้าไปอีก เขาออกมาบอกว่ามีวัวแม่ลูก ลูกตัวเล็กมาก แต่เขาขาย 3 หมื่น ก็เลยบอกว่าเอามาเถอะ และมีอีกตัวสีดำเพศเมีย ก็เอาด้วย เลยได้มา 3 ตัว ปีนี้แพงมากแพงกว่าปีที่แล้วเท่าตัว ไม่รู้ว่าเขารู้ว่าเราจะมาไถ่เลยโก่งราคาหรือไม่ เพราะเงินที่จ่ายนี้ควรได้วัว 4 ตัว แต่ไม่เป็นไร บุญเราทำไปแล้วใครทำอะไรก็เป็นเช่นนั้น ปีที่แล้วเราก็ได้ช่วยวัวแม่ลูกเช่นกัน แต่ลูกอายุมากกว่านี้เยอะ

ที่ดีใจมากก็คือข้ออธิษฐานที่ตั้งใจเป็นจริง เห็นลูกวัวแล้วตกใจมาก เป็น baby จริงๆที่เขาเอามาเตรียมฆ่า เดินคลอเคลียแม่วัวตลอด อายุ 2 เดือน กินนมแม่ แม่ก็หวงมากไม่ให้เราเข้าไกล้เดินกันลูกตลอด เห็นแล้วพูดไม่ออก ไม่กล้าคิดว่าเวลาถูกฆ่าแม่ลูกวัวคู่นี้ เขาทำลงคอได้จริงๆนะ  จะมีพิธีมอบเป็นทางการวันที่ 4  ธค.นี้

นี่เป็นอีกตัวที่โชคดี
บน-ล่าง พระอาจารย์รับขวัญวัวแม่ลูก และเจ้าตัวดำทั้งสามตัว



บน รถของโรงฆ่าเอามาส่งให้ที่วัดกลางมืองที่จัดให้มีงานนี้ขึ้น


บน กล่าวคำถวาย และอุทิศผลบุญ


คุณละออ บุญสารับขวัญวัว เกิดปีติ อิ่มบุญมากงานนี้ ยิ้มตลอดเวลา


นี่เป็นส่วนหนึ่งของวัวที่มีผู้ร่วมไถ่มาเป็นระยะๆทราบจากจนท.ว่าปนี้ได้เกือบยี่สิบตัวแล้ว สาธุ :)

ร่วมอนุโมทนาบุญได้ค่ะ ขอให้ทุกท่านที่ได้เข้ามาอ่านมีสุขภาพที่แข็งแรง มีจิตที่สงบ สบายเช่นกันค่ะ

ปล.เอามาฝากเพิ่มเติมค่ะ
...... เลือดและเนื้อของสัตว์เป็นพิษ ก่อนที่สัตว์จะถูกฆ่าโดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ๆ ซึ่งมีจิตสำนึกค่อนข้างสูงเช่น วัว ควาย หมู สัตว์เหล่านี้จะเกิดความกลัวสุดขีดและพยายามต่อสู้ดิ้นรนอย่างสุดชีวิต ในช่วงเวลานั้นชีวะเคมีในตัวสัตว์จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเกิดขึ้น ฮอร์โมนที่เป็นพิษจำนวนมากจะถูกขับออกมาโดยเฉพาะ สารแอดรีนาลิน พิษของฮอร์โมนนี้จะแพร่กระจายแทรกซึมเข้าไปในเส้นเลือดและเนื้อทุกส่วน แม้ว่าสัตว์นั้นจะตายไปแล้ว แต่ว่าพิษนั้นยังคงอยู่ต่อไป สารแอดรีนาลินนี้สามารถพบได้ในร่างกายของคนเราด้วยเช่นกัน มันจะหลั่งออกมามากในขณะที่บุคคลผู้นั้นเกิดอารมณ์โกรธเกลียด เครียดแค้น หรือตกใจกลัวสุดขีด เพราะฉะนั้นคนที่อารมณ์รุนแรงและตึงเครียด โมโหร้าย เจ้าอารมณ์ มักมีสุขภาพร่างกายไม่ดี ใบหน้าหมองคล้ำ ป่วยเป็นโรคต่างๆเสมอ แก่เกินวัยและตายเร็ว ตรงกันข้ามกับคนที่มีจิตใจดี อารมณ์ดี จะมีใบหน้าสดใส ร่าเริง แก่ช้า อายุยืน และสุขภาพอนามัยดี สถาบันโภชนาการประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า " เนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าตาย เต็มไปด้วยเลือดที่เป็นพิษและสารพิษอื่นๆมากมาย " พบว่าหลังจากที่สัตว์ตายไป 2 - 3 ชั่วโมงเนื้อสัตว์จะเป็นกรดมากขึ้นทุกขณะ ..............
http://www.96rangjai.com/naturalfoods/veget6.html

ต่อ "ไถ่ชีวิต..เพื่อชีวิต " ที่  http://meecorner.blogspot.com/2011/12/blog-post_19.html

Friday 25 November 2011

เชิญมาร่วมอนุโมทนา


วันนี้ ( 25 พย.)ที่วัดมีงานทำบุญอดีตเจ้าอาวาส พระเทพรัตนกวี พระเทพสิทธินายก (ลพ.ข้อง) และอดีตเจ้าอาวาสที่มีมา (วัดนี้ตามประวัติว่าตั้งแต่ปี 2450 ) นิมนต์พระผู้ใหญ่มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ และถวายสังฆทาน
ที่กุฏิอดีตเจ้าอาวาส พระเทพสิทธินายก (ลพ.ข้อง) ผู้เป็นอาจารย์ของ meepole (meepole ตอนเด็ก เรียนรร.พุทธศาสนาวันอาทิตย์ด้วย ที่บ้านกลัวจิตกระด้างเลยส่งไปเรียนหลักธรรมตั้งแต่เด็ก)



พระผู้ใหญ่ที่มาเจริญพระพุทธมนต์

เจ้าคณะจังหวัด  รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอเมือง เจ้าคณะอ.พุนพิน เจ้าคณะตำบลนาสาร  เจ้าคณะอ.ดอนสัก เป็นต้น

     

เจ้าอาวาสถวายไทยธรรม แล้วกรวดน้ำ



ฆราวาสที่มาร่วมงานร่วมถวายไทยธรรม

ปิ่นโตที่รอร่วมบุญ

หลังจากนั้นก็ถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุ วันนี้อาหารมากมาย ปิ่นโตก็มาก

พระคุณเจ้าฉลองศรัทธาโยมๆ                                   ตาชั่งที่ meepole ถวายพระ ไว้ให้ท่านดูแลสุขภาพ



พระฉันภัตตาหารเสร็จ ก็ถึงรอบโยมๆ


ญาติโยมมากันพอสมควร เพราะงานนี้ทำกันภายในไม่ประกาศ โชดดีมากที่ฝนไม่ตกเลยแดดร่มลมตกตลอด แอบทราบว่าเจ้าอาวาสท่านขอพระพุทธ ในวัดไว้ทุกครั้ง ทุกงานไม่เคยตกเลย หลังเสร็จก็ลงโครม ครั้งนี้ก็เช่นกัน  เราถวายตาชั่งน้ำหนักตัว  ลพ.วัดพุนพินใต้ชอบ ถามว่าซื้อที่ใหน ครอบครัวขาวถวายผ้าเช็ดตัว เจ้าอาวาสท่านถวายผ้าไตรจีวร และปัจจัย



อันนี้คุณยายทั้งสอง meepole บอกว่ายายสวยจังเลย อายุเท่าไร ยายเขินมากบอกว่า เลข 8 แล้ว แต่ไม่บอกว่า 8 กับอีกเท่าไหร่ ว่าแล้วตั้งท่าให้ถ่ายรูป


 ท่านใดที่เข้ามาอ่านอิ่มบุญแล้ว
โปรดอนุโมทนาบุญร่วมกันด้วยเลยค่ะ :) สาธุ

Tuesday 22 November 2011

การอ่อนน้อมถ่อมตนก่อให้เกิดบุญ (7)

การอ่อนน้อมถ่อมตนก่อให้เกิดบุญได้อย่างไร


การอ่อนน้อมถ่อมตน จัดเป็นบุญประการหนึ่ง เพราะทำให้จิตไม่แข็งกระด้าง แต่การอ่อนน้อมนั้น ต้องอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อม ถ้าไปอ่อนน้อมหรือบูชาคนที่ไม่ควรบูชา ก็จะเกิดโทษแทนที่จะเกิดคุณ
ใครคือคนที่ควรอ่อนน้อม
คนที่ควรอ่อนน้อม ท่านเรียกว่า วุฑฒบุคคล ซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1. วัยวุฑฒะ คือ คนที่แก่กว่าเรา อายุมากกว่าเรา เช่น พี่ ป้า น้า อา ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า
2. ชาติวุฑฒะ คือ คนที่มีชาติกำเนิดสูงกว่าเรา คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา แม้จะมีอายุน้อยกว่าเรา แต่ชาติตระกูลสูงก็ควรแสดงความเคารพ เพราะเป็นไปเพื่อความเจริญ
3. คุณวุฑฒะ คือ คนที่มีคุณธรรมสูงกว่า เช่น พระภิกษุสามเณร แม้จะมีอายุน้อยกว่า เราก็ควรนอบน้อมถ่อมตนต่อท่าน เพราะท่านมีคุณธรรม คือ ศีลสูงกว่าเรา หรือคนที่มีบุญคุณต่อเรา เช่น พ่อ แม่ หรือ ครูอาจารย์ เพราะท่านมีคุณต่อเรา หรือต่อสังคม

การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อวุฑฒบุคคล 3 ประเภทดังกล่าวมาแล้ว ด้วยการกราบไหว้ ลุกขึ้นต้อนรับ ช่วยเหลือในกิจของท่าน พูดจาแสดงสัมมาคารวะ หรือให้เกียรติต่อท่าน เป็นต้น จัดเป็นการทำบุญประการหนึ่งในพระพุทธศาสนา ย่อมได้รับความสุขความเจริญในชีวิตได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

อภิวาทนสีลิสฺส  นิจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ฯ

ย่อมได้รับพร 4 ประการ คือ อายุยืน  ผิวพรรณผ่องใส  การมีความสุขกายสุขใจ  การมีกำลังกายกำลังใจ
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการกราบไหว้เป็นปกติ ประพฤตินอบน้อมต่อวุฑฒบุคคล (ผู้ใหญ่) อยู่เป็นนิตย์ฯ

ผู้ที่มีลักษณะแห่งความอ่อนน้อมจริงแท้นั้น เปรียบเสมือนดังรวงข้าวที่ทุกเมล็ดเติบโตเหลืองอร่ามเต็มรวงโน้มลงสู่ดิน ในขณะที่รวงข้าวทีมีเพียงเมล็ดลีบๆ จะชูช่อล่อฟ้าท้าลมดุจเดียวกันกับคนที่หยิ่งจองหองที่แม้ไร้ความสามารถก็ไม่ยอมค้อมลงให้ใคร (คนดี)




ดังนั้นจะเห็นว่าเราสามารถนำหลักการแห่งความอ่อนน้อมมาใช้ในการดำเนินชีวิต เป็นองค์ประกอบสำคัญในการนำพาชีวิตเราให้สูงขึ้น จิตใจที่อ่อนโยน (ไม่ไช่อ่อนแอ) ส่งผลให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยความสุขุม รอบคอบ มากยิ่งขึ้น ไม่เร่าร้อน หงุดหงิด ผลดีที่จะเกิดขึ้นกับตนเองโดยระดับส่วนตัวจะทำให้ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากบุคคลอื่น ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่สร้างสรรค์ขึ้น เพราะผู้อ่อนน้อมย่อมมีคนเมตตา
ในส่วนของสังคม ความอ่อนน้อมจะช่วยให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เรียนรู้ที่จะประสานและประนีประนอมลดความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ช่วยให้สังคมอยู่ได้อย่างมีสันติสุขอย่างยั่งยืนในระยะยาวเช่นเดียวกัน

ในส่วนของตัวเรา แอบบอกนะคะว่า จิตที่อ่อนโยนนั้นช่วยให้เราหน้าอ่อนกว่าวัย ใสแบบไม่ต้องใช้ครีมหน้าเด้งเลยเชียวค่ะ ขอบอก :)


ขอให้ทุกคนแข็งแรง และมีความสุข เพราะความอ่อนน้อมถ่อมตนของคุณค่ะและอย่าลืมนะคะว่าพึงปฏิบัติต่อ วุฑฒบุคคล

Friday 18 November 2011

การเจริญภาวนาให้เกิดบุญ (6)


ภาวนา เป็นหลักธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา หมายถึง การอบรมจิต หรือ การพัฒนาจิต คือ ทำจิตให้มีค่าสูง ได้แก่ ทำจิตให้สะอาด สงบ สว่าง
ภาวนาแปลว่า การทำให้มีขึ้น ทำให้เกิดขึ้น ได้แก่ การฝึกอบรมจิตใจให้เกิดความสงบ ขั้นสมาธิและปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงข้อปฏิบัติไว้ 2 ประการ คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนา เป็นหลักธรรมขั้นสมาธิ คือ การฝึกอบรมจิตใจให้เกิดความสงบ จนตั้งมั่นเป็นสมาธิ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการเจริญ สมถภาวนา
วิปัสสนาภาวนา เป็นหลักธรรมขั้นปัญญา คือ การฝึกอบรมเจริญปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้งใน สภาพธรรมที่เป็นจริงตามสภาพของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

สำหรับการเจริญภาวนาในขั้นบุญกิริยาวัตถุนี้ โดยทั่วไป ท่านหมายเอาเพียง มหากุศลธรรมดา แต่หากใครได้ศึกษาให้มีความเข้าใจ ก่อนลงมือปฏิบัติ แล้วพากเพียรปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามแนวทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ก็สามารถเป็นบันไดให้ก้าวไปถึงฌาน หรือมรรคผลได้

การเจริญภาวนาหรือการปฏิบัติกรรมฐานนี้ได้บุญกุศลมากกว่าการให้ทาน และการรักษาศีล โดยทาน มีผลน้อยกว่าศีล ศีลมีผลน้อยกว่าสมาธิ สมาธิมีผลน้อยกว่าปัญญา ปัญญามีผลมากที่สุด เพราะสามารถนำไปสู่การตัดกิเลส เข้าสู่พระนิพพาน เข้าถึงความสิ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง

ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นพุทธมามกะ นอกจากการทำบุญ รักษาศีลแล้ว ควรหาโอกาสปฎิบัติภาวนาด้วยค่ะ

Tuesday 15 November 2011

รักษาศีลอย่างไรให้เกิดบุญ (5)


ศีล หมายถึง การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย
ศีล แปลได้ 3 อย่าง คือ
1. ศีล แปลว่า "ปกติ" คือทำกาย และวาจาให้เป็นปกติให้เรียบร้อย ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด
2. ศีล แปลว่า "เย็น" คือทำให้เยือกเย็น ทำให้เย็นกาย เย็นใจ ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะขาดศีล
3. ศีล แปลว่า "เกษม" คือปลอดภัย ทำให้เบากาย เบาใจ
ศีลมีหลายประเภท คือ
1. ศีล 5 หรือ ศีลกรรมบถ   สำหรับคนทั่วไป
2. ศีล 8 หรือ ศีลอุโบสถ   สำหรับอุบาสก อุบาสิกา
3. ศีล 10   สำหรับสามเณร
4. ศีล 227 หรือ ปาริสุทธิศีล 4   สำหรับพระภิกษุ
การรักษาศีลต้องมีเจตนาจึงจะมีศีลได้ ถ้าไม่มีเจตนาจะงดเว้นหรือจะรักษาศีลแล้ว แม้ผู้นั้นไม่ทำความชั่ว เช่น ไม่ฆ่าสัตว์หรือไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ยังไม่มีศีล เหมือนเด็กที่นอนแบเบาะ แม้ไม่ทำชั่วก็ไม่ก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น หรือเหมือนอย่างวัวควาย แม้มันไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น
ดังนั้นการที่จะมีศีลได้ก็ต้องมี วิรัติ คือมีเจตนาที่จะงดเว้นจากโทษนั้น ๆ


วิรัติ 3
วิรัติ แปลว่า การงดเว้น มี 3 อย่าง คือ
1. งดเว้นด้วยการสมาทาน ( สมาทานวิรัติ) หมายความว่า เราได้ตั้งใจไว้ก่อนว่า จะรักษาศีล ไม่ว่าจะเป็นการไปรับสมาทานศีลที่วัด เช่น สมาทานศีล 5 สมาทานศีล 8 หรือกล่าวเองที่บ้าน หรือคิดขึ้นมาในใจว่าเราจะรักษาศีลที่เรียกว่า เจตนาวิรัติ เป็นต้น เมื่อไปพบเหตุการณ์อันชวนให้ล่วงศีล ก็ไม่ล่วง เพราะถือว่า ตนได้สมาทานศีลไว้ จะล่วงก็เสียดายศีล กลัวศีลจะขาด การงดเว้นจากการล่วงศีล ด้วยคำนึงถึงศีลที่ตนได้สมาทานไว้ อย่างนี้ เรียกว่า สมาทานวิรัติ

2. งดเว้นด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า (สัมปัตตวิรัติ)  เป็นเจตนางดเว้นซึ่งเกิดขึ้นในทันทีทันใด เป็นวิรัติของผู้ที่ไม่ตั้งใจจะรักษาศีลมาก่อน คือ คนบางคนไม่ตั้งใจว่าจะรักษาศีล แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจำเพาะหน้าอันอาจจะให้ล่วงศีลได้ แต่ไม่ยอมล่วงศีล เกิดงดเว้นขึ้นมาในขณะนั้น  เช่น มีโอกาสจะฆ่าสัตว์ หรือฆ่าคนได้ แต่ไม่ฆ่า หรือมีโอกาสจะลักของของคนอื่นได้แต่ไม่ลัก หรือมีโอกาสจะประพฤติผิดในกามได้ แต่ไม่ยอมประพฤติผิดในกาม โดยมาคำนึงว่า การกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะไม่ควรแก่ฐานะ และสกุลของตนอย่างตนเอง จึงงดเว้นเสีย

3. งดเว้นได้เด็ดขาด (สมุจเฉทวิรัติ) เป็นวิรัติของพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป คือ พระอริยบุคคลทุกจำพวกมีศีล 5 บริบูรณ์ที่สุด ท่านงดเว้นจากเวร 5 ได้เด็ดขาด โดยไม่ต้องสมาทาน หรือคอยพะวงรักษา เพราะท่านเห็นโทษของการประพฤติล่วงศีลอย่างแท้จริง แม้ใครจะมาบังคับให้ท่านประพฤติล่วงศีล 5 ท่านยอมตายเสียดีกว่าที่จะประพฤติล่วง การละความชั่วในขั้นนี้ของท่านจึงเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ละได้เด็ดขาด หรือเป็นสมุจเฉทวิรัติ คืองดเว้นได้เด็ดขาด

สรุปอานิสงส์ของศีล
ศีลมีอานิสงส์มาก เช่น ทำให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพของคนทั้งหลาย อยู่ในสังคมอย่างสงบสุข ไม่ก่อเวรก่อภัยต่อผู้ใด ทำให้เป็นคนสง่างาม มีผิวพรรณผ่องใส กล่าวโดยสรุปอานิสงส์ของศีล มี 3 อย่าง ดังคำพระบาลีบอกอานิสงส์ของศีลว่า
1. สีเลน สุคฺตึ ยนฺติ  บุคคลจะไปสู่สุคติได้ก็เพราะศีล
2. สีเลน โภคสมฺปทา  บุคคลจะได้โภคทรัพย์สมบัติได้ก็เพราะศีล
3. สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ  บุคคลจะดับทุกข์ความเดือดร้อนจนเข้าถึงพระนิพพานได้ก็เพราะศีล
ฉะนั้น ทุกคนจึงควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไว้ ก็จะรับอานิสงส์คือบุญอันกิดจากการรักษาศีลดังกล่าวแล้วในที่สุดได้

Friday 11 November 2011

ทำทานอย่างไรให้เกิดบุญ (4)



เราทุกคนเคยทำทานกันทั้งสิ้นแต่ บางคนก็สับสนว่าสิ่งที่ทำคือทำทานหรือทำบุญกันแน่ และหากจะทำทานจะทำอย่างไรให้เกิดบุญ ลองติดตามอ่านค่ะ

ทานคือ การให้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. อามิสทาน หมายถึงการให้ทานด้วยวัตถุที่เป็นของนอกกาย เช่น เงิน สิ่งของ หรือของในกาย เช่น การบริจาคเลือด บริจาคอวัยวะ ทานไม่เสียเงินก็มี เช่น ช่วยแรง ช่วยปัญญา อภัยทาน เป็นต้น

2. ธรรมทาน
พุทธพจน์ สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง อานิสงส์การให้ธรรมเป็นทาน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า แม้ให้พระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกนั่งเรียงกันจากโลกมนุษย์ไปจนถึงพรมโลก แล้วถวายผ้าไตรครบทุกองค์ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ธรรมทาน


การให้ทานทุกชนิด ย่อมมีผลทั้งสิ้น แม้แต่บุคคลเทน้ำลงในหลุมหรือบ่อเล็ก ๆ ด้วยหวังว่าจะให้สัตว์เล็ก ๆ ได้อาศัยน้ำนั้นมีชีวิตอยู่ พระพุทธองค์ยังตรัสว่าเป็นบุญ 
ดังนั้นผลบุญที่ได้นั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 4 อย่าง (พระไตรปิฎก เล่มที่ 14 ข้อ 719) ดังต่อไปนี้

1.1. ผู้ให้มีความบริสุทธิ์ หากเราเป็นคนที่ไม่ถือศีลเลย เวลาเราทำทานเราก็จะได้บุญน้อย หากเราเป็นคนที่รักษาศีล เป็นผู้มีคุณธรรม เราก็จะได้บุญมากขึ้น ยิ่งศีลของเรามาก เราก็จะยิ่งได้บุญมากขึ้น
1.2. วัตถุที่ให้มีความบริสุทธิ์ คือ วัตถุทานที่ให้ได้มาโดยชอบไม่ได้ไปเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ขโมยมา หรือ แย่งมา โกงมา หรือฆ่าสัตว์เพื่อทำบุญ เป็นต้น
1.3. เจตนาของผู้ให้บริสุทธิ์ หากเราให้ทานด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเมตตา ด้วยความปรารถนาดี ทั้งก่อนให้ก็มีความสุขที่จะได้ให้ ขณะให้ก็มีความสุขใจ และหลังจากให้แล้วเมื่อนึกถึงที่ได้ทำไปก็รู้สึกสุขใจ จิตจะตั้งอยู่บนความเบิกบานแจ่มใส เราย่อมได้รับผลบุญสูงกว่าการที่ให้โดยหวังผลประโยชน์บางอย่างตอบแทน ให้เพราะอยากได้หน้า หรือให้ไปแล้วรู้สึกเสียดายทั้งก่อนให้ หรือขณะให้ หรือหลังให้แล้ว ซึ่งทำให้หลังจากให้ไปแล้ว จิตของเราจะตั้งอยู่บนความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ผลบุญย่อมลดลง

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ปุพฺเพว ทานา สุมโน ททํ จิตฺตํ ปสาทเย ทตฺวา อตฺตมโน โหติ เอสา ยญฺญสฺส สมฺปทา.
ทายกผู้ให้ทานนั้น ก่อนให้ก็มีใจยินดี กำลังให้ก็ทำใจให้เลื่อมใส ให้เสร็จแล้วก็มีใจเบิกบาน ข้อนี้ คือความสมบูรณ์ของยัญ (ทาน).

เรื่องของเจตนาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นสิ่งสร้างความแตกต่างในบุญได้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ เจตนาที่ไม่บริสุทธิ์กับเจตนาที่บริสุทธิ์มากๆ จะสามารถให้ผลบุญที่แตกต่างกัน

1.4. ผู้รับมีความบริสุทธิ์ การให้ทานกับใครก็ตาม แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ขอทาน หรือ คนชั่ว หากเราให้ด้วยใจบริสุทธิ์อยากช่วยเหลือ เราก็ได้บุญทั้งหมด เพียงแต่ว่าปริมาณของบุญที่ได้จะไม่เท่ากัน หรือที่เราคงเคยได้ยินเรื่อง เนื้อนาบุญ เปรียบได้ดังเช่นการหว่านเมล็ดข้าว หากหว่านลงนาดี ย่อมได้ผลผลิตมาก แต่หากหว่านลงไปบนพื้นดินที่ไม่ดี หรือบนคอนกรีตก็คงไม่ได้อะไร

พระพุทธองค์ได้เปรียบเทียบปริมาณบุญที่เราได้จากทำบุญให้บุคคลที่แตกต่างกัน (พระไตรปิฎก เล่มที่ 14 ข้อ 711 และ เล่มที่ 23 ข้อ 224) ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ยิ่งเราทำบุญกับผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์มาก เราจะได้รับบุญมากกว่า เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงสมมติเป็นหน่วย ดังนี้

ทำบุญกับคนไม่มีศีล ได้บุญ 1,000 หน่วย
ทำบุญกับคนมีศีล 5 ได้บุญ 10,000 หน่วย
ทำบุญกับคนมีศีลอุโบสถ ได้บุญ 100,000 หน่วย
ทำบุญกับสมมติสงฆ์ (พระที่ถือศีลครบ 227 ข้อ) ได้บุญ 1,000,000 หน่วย
เป็นต้น
ผลของทานมีมาก ให้มนุษย์สมบัติก็ได้ ให้สวรรค์สมบัติก็ได้ ให้นิพพานสมบัติก็ได้ แต่โดยเฉพาะทำให้เป็นคนมีทรัพย์สมบัติไม่ยากจน ทำให้มีบริวารมาก และเป็นที่รักของคนทั้งหลาย

 ดังนั้นในการให้ทาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราควรทำจิตทำใจในการให้ทาน คือ ให้เพื่อละความตระหนี่ในใจ ให้เพื่อละกิเลสคือความโลภ และเป็นที่รักของคนทั้งหลาย ให้เพราะต้องการสงเคราะห์และ ให้เพื่อดำรงพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่สืบไป ไม่ใช่ให้ทานเพราะหวังรวย อย่างนี้ย่อมได้อานิสงส์น้อย



ตอนหน้าจะเป็นเรื่อง จะรักษาศีลอย่างไรให้เกิดบุญ

อ้างอิง:หลักการหรือคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา
http://www.snr.ac.th/
กฎแห่งกรรม โดย พระเทพวิสุทธิกวี
http://www.dhammatan.net

Tuesday 8 November 2011

สุดท้ายแล้วเหลืออะไร "จอมนางชิงบัลลังก์"


ตอนนี้ meepole ติดตาม series เกาหลี "ศึกชิงบัลลังก์จอมนาง" มาเป็นระยะๆ ดูแล้วก็เหมือนกันทุกชาติเพราะความเป็น "คน" ที่ทะเยอทะยาน เห็นแก่ผลประโยชน์ตัวและพวกพ้องมากเกินพอดี ทำและวางแผนทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจ เงินทอง เพื่อจุดประสงค์เดียวคือการมีชีวิตที่ดีของตัวและพวกพ้อง และอยู่เหนือผู้คน แม้ว่าจะต้องเหยียบย่ำไปบนท่ามกลางความสูญเสียของอะไรก็ไม่สนใจ แต่ลืมมองไปว่าระหว่างเส้นทางที่ผ่านมา และระหว่างที่กำลังเดินไปนั้นเคยมีความสุข ความสงบ นอนหลับสบาย หรือไม่ แม้สุดท้ายอาจได้สิ่งที่ต้องการแต่ก็บั้นปลายชีวิตที่ไกล้ฝั่งเต็มทีแทบไม่ได้เสวยสุขที่พยายามมา  หรือไม่ก็ไม่สำเร็จจุดจบคือความสูญเสีย ความทรมาณ หรือความตาย  แต่ก็แปลก ภาพยนต์แบบนี้มีในทุกชาติภาษา ดูแล้วดูอีก ผ่านไปเรื่องแล้วเรื่องเล่า ไม่รู้เหมือนกันว่า คนที่ดู ได้บทเรียนไว้สอนตนและคนรอบข้างบ้างหรือไม่ หากใครติดตามเรื่องนี้ จะได้ข้อคิดหลายช่วงเลยทีเดียว
คำพูดนี้น่าตรองดู

ช่างทำรองเท้าเตือนสตินานจองว่า "เมื่อปีนเขาก็จะนึกถึงยอดเขาจนลืมถนนที่เดินผ่านมา ขอเพียงกำจัดความทะเยอทะยานและความเคียดแค้นลงได้ก็จะมีความสุขไปชั่วชีวิต"  แต่นานจองกลับบอกช่างทำรองเท้า ว่า "นางไม่คิดถึงทางลงเขา คิดเพียงปีนถึงยอดเขาเท่านั้น"

นานจอง เป็นตัวเอกของเรื่องเลยทีเดียว สวย ฉลาดล้ำลึก ทะเยอทะยาน ใจกล้าและเด็ดเดี่ยวมาก ทุกอย่างเธอจะนั่งใคร่ครวญ ตริตรอง วางแผนด้วยตัวเอง  สุดท้ายของชีวิตที่ไม่เคยเชื่อคำเตือนใดๆของใครทั้งสิ้น นอกจากนานจองจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังสูญเสียหลายสิ่งที่ดีในชีวิตไป และจุดจบคือฆ่าตัวตาย สิ่งที่พยายามทำมาทั้งชีวิต นอกจากไม่ได้อะไร เธอยังไม่เหลืออะไรอีก กระทั่งยังไม่เคยได้มีชีวิตที่สงบสุขอย่างแท้จริงเลยในตลอดเวลาที่ผ่านมา สำหรับ meepole แล้ว เธอช่างโง่จริงๆ!

Monday 7 November 2011

การทำบุญให้เกิดบุญ (3)


การทำบุญมีถึง 10 วิธี หรือเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ 10 เป็นการทำบุญที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา โดยไม่ต้องใช้จ่ายเงินทอง  มีเวลามากหรือน้อย ไปวัดหรือไม่ไปวัด หากทำแล้วย่อมเกิดบุญได้ทั้งสิ้น

บุญกิริยาวัตถุ (อรรถกถา เล่มที่ 75 หน้า 427) หมายถึง การกระทำที่เป็นบุญ มีอยู่ 10 อย่าง

บุญกิริยาวัตถุ 10 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี — bases of meritorious action) แบ่งเป็น 3 หมวด คือ หมวดทาน หมวดศีล หมวดภาวนา
หมวดทาน
1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของหรือช่วยเหลือ — meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving)

2. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดี อุทิศบุญกุศลให้ผู้อื่น— by sharing or giving out merit)
3. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น หรืออนุโมทนา— by rejoicing in others’ merit)
หมวดศีล
4. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี — by observing the precepts or moral behavior)
5. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้อื่น— by humility or reverence)
6. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในกิจที่ชอบ — by rendering services)
หมวดภาวนา
7. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ — by listening to the Doctrine or right teaching)
8. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอน เผยแผ่ธรรมให้ความรู้ — by teaching the Doctrine or showing truth)
9. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือ ฝึกอบรมจิตใจ — by mental development)

หมวดที่เข้าได้กับทุกหมวด
10.ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง — by straightening one’s views or forming correct views)

หลัก 10 อย่าง ที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุข้างต้นนี้ ถ้าเข้าใจอย่างถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องแล้ว ก็จะได้ทำบุญหรือสร้างความดีอย่างถูกต้อง ไม่งมงาย และได้ผลมาก ไม่เสียทีที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ภายใต้บวรพระพุทธศาสนา

เรื่องต่อจากนี้ meepole จะเริ่มด้วยเรื่อง  การทำทานอย่างไรให้เกิดบุญ ค่ะ  หากเราทำอะไรให้ถูกต้องย่อมเกิดผลที่ดี ที่สมบูรณ์ ค่ะ

อ้างอิง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)  บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ 
http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/010076.htm

Friday 4 November 2011

น้ำท่วม: การใช้ด่างทับทิมบรรเทาน้ำกัดเท้า และบาดแผล

ช่วงนี้ขอระดมสมองไปทุ่มให้ กับคนที่เดือดร้อนจาดน้ำท่วมก่อน เลยทำให้การเขียนเรื่องในบ็ลอกนี้ แปลกๆไปจากกรอบเดิม แต่ก็ชั่วคราวเพราะในยามนี้เชื่อว่าคนไทยทุกคน ไม่ว่าอยู่ที่มุมใดของโลกหากรู้ข่าวย่อมต้องเป็นห่วงกันและกัน meepole ช่วยได้ในส่วนของการให้ข้อมูลแก่คนที่ประสบปัญหาจากการจะใช้ด่างทับทิมจึงไปค้น แปล เขียนมาให้ช่วยกันนำไปบอกต่อ ก่อบุญ ค่ะ

ติดตามเรื่อง น้ำท่วม: การใช้ด่างทับทิมบรรเทาน้ำกัดเท้า และบาดแผล  ได้ที่ บ้านปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย
http://meepole.blogspot.com/2011/11/blog-post_04.html

เรื่องใหม่ค่ะ

น้ำท่วม: สู้เชื้อโรคจากการลุยน้ำด้วยด่างทับทิม

http://meepole.blogspot.com/2011/11/blog-post_09.html