เมื่อใดที่เราคิดถึงแต่ตนเอง เมื่อนั้นเรากำลังเอา "ตัวตน" ออกรับทุกอย่างที่มากระทบ ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากสิ่งที่มากระทบนั้นน่าพอใจก็แล้วไป แต่บ่อยครั้งมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่พึงปรารถนา ผลก็คือเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะตัวตนถูกสิ่งนั้นมากระทบอย่างจัง
เมื่อใดที่นึกถึงแต่ตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความไม่พอใจ
ความโกรธ ความฉุนเฉียว
เพราะคนที่มักเอาตัวตนออกรับทุกเรื่องจนกลายเป็นนิสัยและทำไปโดยไม่รู้ตัว
เวลามีคนมาตักเตือนหรือตำหนิ ปฏิกิริยาแรกสุดที่เกิดขึ้นในความคิดของคนส่วนใหญ่ก็คือ
"เขาว่าฉัน ๆ ๆ" จากนั้นก็ปรุงต่อไปว่า
"มาพูดอย่างนี้กับฉันได้อย่างไร" สิ่งที่ตามมาก็คือความไม่พอใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การตอบโต้ด้วยวาจาหรือการกระทำที่รุนแรง แต่เมื่อใดที่นึกถึงคนอื่น คิดถึงปัญหาที่ต้องแก้ จิตใจก็จะไปจดจ่ออยู่กับการหาทางออก
ไม่เปิดช่องให้ความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น พูดอีกอย่างคือใช้อารมณ์น้อยลง
แต่ใช้ปัญญามากขึ้น
ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องเอาตัวตนมาออกรับคำตำหนิก็ได้ หากเราเพียงแต่เปลี่ยนมุมมองหรือวิธีคิด
นั่นคือหันมาสนใจว่า "ที่เขาพูดมานั้นถูกต้องไหม?" สิ่งที่เราจะได้คือความรู้
ถ้าเขาพูดถูก เราก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเราเองว่ามีจุดบกพร่องที่ตรงไหน
แต่ถ้าเขาพูดผิด เราก็ได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเขาว่าเขาเป็นคนอย่างไร เป็นคนด่วนตัดสินหรือไม่
เป็นคนติดยึดกับความคิดของตนเพียงใด
การคิดแบบเอาตัวตนออกรับนั้น ทำให้เราสนใจแค่ว่า..ถูกใจหรือไม่ถูกใจฉัน ถ้าถูกใจก็เป็นสุข
ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์ แต่เมื่อคิดแบบนี้เป็นนิสัยก็มีแต่จะทำให้ทุกข์ง่าย เพราะเรื่องที่ไม่ถูกใจนั้นมีเยอะ
ส่วนเรื่องที่ถูกใจนั้นก็มักสนองกิเลสหรืออัตตาของเราจนเสียคนได้ง่าย
การเอาตัวตนออกรับหรือเอาความถูกใจเป็นเกณฑ์นั้น ทำให้กิเลสหรืออัตตาพองโต จนครอบงำกำหนดชีวิตของเราอย่างกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ ตรงกันข้าม การเอาปัญญาออกรับหรือเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ จะทำให้ตัวตนเบาบาง ความทุกข์เข้ามากระทบไม่ได้ง่ายๆ จึงเป็นชีวิตที่อิสระและสงบเย็นอย่างแท้จริง.
การเอาตัวตนออกรับหรือเอาความถูกใจเป็นเกณฑ์นั้น ทำให้กิเลสหรืออัตตาพองโต จนครอบงำกำหนดชีวิตของเราอย่างกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ ตรงกันข้าม การเอาปัญญาออกรับหรือเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ จะทำให้ตัวตนเบาบาง ความทุกข์เข้ามากระทบไม่ได้ง่ายๆ จึงเป็นชีวิตที่อิสระและสงบเย็นอย่างแท้จริง.
เรียบเรียงจาก ทำตัวตนให้เบาบาง โดย พระไพศาล วิสาโล ธันวาคม ๒๕๔๖