Monday 5 November 2012

จิตอิสระ...ก็เหนือทุกข์



บทความ คำกล่าว ข้างล่างนี้หากได้อ่านและทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้ง แล้วลองทำดู หากทำได้ยิ่งมาก ก็จะยิ่งเบา ค่อยๆ ลองทำดูนะคะ

.....ที่กล่าวว่า “ไม่มีอะไรเป็นตัวเรา หรือ ของเรา” นั้น มิได้หมายความว่า เราไม่มีอะไร หรือ ไม่รับอะไร ไม่ใช้สอยบริโภคสิ่งใด เพราะเราคงมีอะไร หรือบริโภคใช้สอยสิ่งใดๆ ไปตามที่สมควรจะมีจะเป็น แต่ภายในใจนั้นไม่มีการยึดถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวตนของมันหรือของใครเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้ได้รับความเย็นใจ เบากายเบาใจอยู่ตลอดเวลานั่นเองเรียกว่า เรารับมันไว้เพื่อมาเป็นบ่าวเป็นทาสเรา เพื่ออำนวยความสะดวกสบายเท่าที่จำเป็น ไม่ยอมรับรู้อะไรมากไปกว่านั้น ความมีจึงมีค่าเท่ากับไม่มี หรือความไม่มีจึงมีค่าเท่ากับมี แต่ความสำคัญส่วนใหญ่นั้น เราจะมีจิตใจที่ไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์ร้อน หรือลิงโลดไปเพราะการได้การเสีย จิตใจชนิดนี้ ไม่ต้องการที่จะรับ และไม่ต้องการที่จะปฏิเสธ จึงสงบเป็นปกติอยู่ได้

พุทธศาสนาสอนให้เรามีจิตใจอย่างนี้ คือให้มีจิตใจเป็นอิสระอยู่เหนือวิสัยชาวโลก ไม่หวั่นไหวไปตามสถานการณ์ทุกอย่างในโลก จึงอยู่เหนือความทุกข์ทุกอย่าง ทั้งในการคิด การพูด การทำ เพราะมีจิตใจเป็นอิสระจากกิเลสนั่นเอง จริงอยู่ พุทธศาสนาปฏิเสธว่า ไม่มีอะไรที่ควรสนใจ หรือควรได้ แต่ก็ยอมรับว่า สิ่งที่ควรสนใจหรือควรได้นั้น มีอยู่โดยแน่นอน สิ่งนั้นก็คือ ภาวะแห่งไม่มีทุกข์เลย เป็นภาวะที่เกิดจากความไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดๆ ทั้งหมดทั้งสิ้นว่า เป็นตัวเราหรือของเรา ไม่ยึดมั่นแม้กระทั่งชีวิต เกียรติยศ ชื่อเสียง หรืออะไรๆ ทั้งสิ้น ที่คนทั่วไปเขายึดถือกัน คือจิตใจเป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง เราเรียกว่าสิ่งนี้อย่างสั้นๆ ว่า ความหลุดพ้น เมื่อถามว่าหลุดพ้นจากอะไร ก็ต้องตอบว่า จากทุกสิ่งที่ครอบงำจิต หรือ ทำจิตให้เป็นอิสระ

ดังนั้นถ้าเรายังมีการยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจ ก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่า "ตัวเรา-ของเรา" นั่นแหละเป็นบ่วงทุกข์ ที่คล้องหรือร้อยรัดผูกพันเราทั้งหลายอยู่ ถ้าเราตัดบ่วงนี้ให้ขาดไม่ได้อยู่เพียงใด เราก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป
 ลองคิดตรองเลือกดู ที่จะเกิดมาทั้งทีจะให้ทุกข์ตลอดชีวิตหรือจะลองฝึกปฎิบัติให้จิตเป็นอิสระเหนือสิ่งทั้งปวง แล้วความสุขที่สงบอยู่ไม่ไกลเลย ลองค่อยๆละ ลด การยึดมั่นถือมั่น กันนะคะ แล้วจะอยู่เหนือทุกข์จริงๆค่ะ :)

ที่มา: จาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ