Wednesday 4 April 2012

ไม่มีตัวตน 2: เรือเปล่า

ที่มาภาพ: cityyearnh.wordpress.com


ก่อนอื่นขออนุญาตปูทางเดินเข้าสู่การ “ไม่มีตัวตน “ด้วยเรื่อง " เรือเปล่า"  ซึ่งท่านพระไพศาล วิสาโลได้เขียนไว้ meepole  ขอยกบางส่วนที่ให้หลักคิดที่ดีมาก อ่านเข้าใจง่ายมาเพื่อเป็นประโยชน์ และเชื่อมต่อกับตอนอื่นๆต่อไป (เรื่องนี้ meepole ได้เก็บไว้นานแล้ว และนำมาอ่านเป็นระยะๆ)

เรื่อง เรือเปล่า เป็นเรื่องที่เล่าโดยจางจื๊อซึ่งเป็นปราชญ์จีนโบราณ เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า... ชายคนหนึ่งพายเรืออยู่ในแม่น้ำ ถ้าหากมีเรือเปล่าลำหนึ่งมาชนเข้า แม้เจ้าของเรือกรรเชียงจะเป็นคนเจ้าโทสะ เขาก็คงโกรธไม่ได้มาก แต่ถ้าเห็นคนอยู่ในเรือนั้น เขาคงต้องตะโกนบอกให้พายเรือหนีไปให้พ้น ถ้าอีกฝ่ายยังไม่ได้ยิน ก็ต้องตะโกนดังขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึงต้องร้องด่า ทั้งนี้ก็เพราะมีคนอยู่ในเรือลำนั้น แต่อากัปกิริยาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากไม่มีคนอยู่ในเรือลำนั้น หรือเป็นเรือเปล่า ดังนั้นจางจื๊อจึงแนะให้เราทำเรือของเราให้ว่างเปล่า หรือทำตนเป็น เรือเปล่าเพื่อจะได้ข้าม แม่น้ำอย่างสะดวกสบาย ไม่มีใครมาขัดขวางหรือกระทบกระทั่งด้วย

มองอย่างพุทธ เรือเปล่า ก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากตัวตน หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั่นเอง ผู้ที่มีจิตว่างเปล่าตามนัยดังกล่าวย่อมอยู่ในโลกนี้ได้อย่างราบรื่นและผาสุก แม้จะไม่ถึงกับปลอดพ้นจากการถูกตะโกนด่าว่าดังเรือเปล่าของจางจื๊อ แต่คำตะโกนด่าว่านั้นย่อมไม่อาจทำให้ทุกข์ได้ เพราะไม่มี ตัวตนออกไปรับ คำด่า ถ้ามีตัวตนหรือยึดมั่นถือมั่นใน ตัวกูเมื่อไร ก็อดไม่ได้ที่จะเอาคำด่านั้นมาเป็น ของกู เกิดความสำคัญมั่นหมายว่า ตัวกูถูกด่า หรือมี ตัวกูเป็นเป้าให้คำด่าว่านั้นเข้ามากระทบกระแทก

ตัวตนหรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั้น เป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ทุกข์เพราะถูกต่อว่าเท่านั้น หากยังทุกข์เมื่อประสบกับความสูญเสียพลัดพราก เพราะไปสำคัญผิดว่าสิ่งที่สูญเสียไปหรือบุคคลที่พลัดพรากไปนั้นล้วนเป็น ของกู

เหตุใดผู้คนจึงทุกข์กันง่ายและทุกข์กันมากเหลือเกิน คำตอบก็คือเพราะไม่รู้เท่าทันความจริงข้อนี้ แถมยังเน้นตัวตนกันมากขึ้น จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนอย่างสูง อะไรก็ตามที่ปรนเปรอ พะเน้าพะนอ หรือตอบสนองความต้องการของตัวตน เป็นต้องทำหรือหามาให้ได้ ดังนั้นจึงเกิดความต้องการไม่รู้จักหยุดหย่อน

คนเรานั้นยากที่จะยอมรับได้ว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง กล่าวได้ว่าเป็นสัญชาตญาณของคนเราที่ต้องการมีตัวตนให้เป็นที่ยึดมั่น ดังนั้นจึงพยายามกดความลังเลสงสัยนี้เอาไว้ลึกลงไปถึงจิตไร้สำนึก แม้กระทั่งการดิ้นรนอยากมีชื่อเสียงหรืออยากดัง ซึ่งเป็นพฤติกรรมยอดนิยมของคนยุคปัจจุบัน ก็อธิบายได้ด้วยสาเหตุเดียวกัน การที่ผู้คนอยากให้ตนเองเป็นที่รู้จัก ลึกลงไปแล้วก็เพื่อยืนยันว่าตัวฉันมีอยู่จริง เพราะถ้าไม่มีคนรู้จัก ก็เท่ากับเป็น “ nobody” คือนอกจากชีวิตจะไม่มีความหมายแล้ว ยังหมายถึงการไม่มีตัวตนในสังคม ลึกไปกว่านั้นยังตอกย้ำความสงสัยในความไม่มีตัวตนให้หนักขึ้น

คนจำนวนไม่น้อยจึงพยายามแสวงหาวัตถุมาครอบครองให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายหรือเพื่อปรนเปรอตัวตนเท่านั้น จุดหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือเพื่อถือเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็น ตัวกู ของกู หรือเพื่อยืนยันความมีอยู่ของตัวตน อะไรที่เป็นวัตถุรูปธรรม จิตก็อยากเข้าไปยึดถือเป็นตัวตน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ตัวตน และเพื่อความมั่นคงของจิตใจ
คำกลอน: พุทธทาสภิกขุ

ตัวตนนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาเองของจิต (ซึ่งตัวมันเองก็ไม่มีตัวตนอยู่เช่นกัน) เมื่อปรุงแต่งแล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นซ้ำเข้าไปอีก หากแต่ “ความเป็นฉัน” นั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเอง หาได้มีจริงไม่ อย่างเช่น “ฉัน” เป็นพ่อแม่เมื่ออยู่กับลูก “ฉัน” เป็นอาจารย์เมื่อพบหน้าศิษย์ และ“ฉัน” เป็นลูกน้องเมื่อไปหาเจ้านาย ความแปรเปลี่ยนอยู่เสมอของ ตัวกู หรือ “ความเป็นฉัน เกิด-ดับ อยู่ตลอดเวลา เพราะมันไม่มีจริง

ทางออกจากทุกข์ที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนหรือมั่นคงให้ได้ แต่อยู่ที่การยอมรับความจริงเสียแต่แรกว่าตัวตนนั้นหามีอยู่จริงไม่ รวมทั้งขจัดความกลัวที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง การยอมรับดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการคิดเอง แต่เกิดจากการประจักษ์ถึงมายาภาพของตัวตน เห็นถึงอาการของจิตที่ปรุงแต่งความเป็นตัวฉันขึ้นมา รวมทั้งตระหนักถึงโทษของการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าทำให้เป็นทุกข์เพียงใด

การมีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าวอย่างถึงที่สุดอาจเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน แต่เราก็สามารถฝึกฝนตนเองได้ในชีวิตประจำวัน

มีคำกล่าวของซุนวู ที่ว่าบุกต้องมิหวังคำยกย่อง ถอยต้องมิกลัวอับอาย จะรุกหรือถอยก็เพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือ ความถูกต้อง เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพราะเอาตัวตนหรือ ความถูกใจ เป็นใหญ่

ด้วยวิธีนี้แหละ เราจึงจะค่อย ๆ กลายเป็น “เรือเปล่า ที่ข้ามฝั่งได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย

ที่มา: "เรือเปล่า" พระไพศาล วิสาโล จิตวิวัฒน์ ตุลาคม ๒๕๔๘