เราทุกคนเคยทำทานกันทั้งสิ้นแต่ บางคนก็สับสนว่าสิ่งที่ทำคือทำทานหรือทำบุญกันแน่ และหากจะทำทานจะทำอย่างไรให้เกิดบุญ ลองติดตามอ่านค่ะ
ทานคือ การให้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. อามิสทาน หมายถึงการให้ทานด้วยวัตถุที่เป็นของนอกกาย เช่น เงิน สิ่งของ หรือของในกาย เช่น การบริจาคเลือด บริจาคอวัยวะ ทานไม่เสียเงินก็มี เช่น ช่วยแรง ช่วยปัญญา อภัยทาน เป็นต้น
2. ธรรมทาน
พุทธพจน์ “สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ” การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง อานิสงส์การให้ธรรมเป็นทาน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “แม้ให้พระพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกนั่งเรียงกันจากโลกมนุษย์ไปจนถึงพรมโลก แล้วถวายผ้าไตรครบทุกองค์ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ธรรมทาน”
การให้ทานทุกชนิด ย่อมมีผลทั้งสิ้น แม้แต่บุคคลเทน้ำลงในหลุมหรือบ่อเล็ก ๆ ด้วยหวังว่าจะให้สัตว์เล็ก ๆ ได้อาศัยน้ำนั้นมีชีวิตอยู่ พระพุทธองค์ยังตรัสว่าเป็นบุญ
ดังนั้นผลบุญที่ได้นั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 4 อย่าง (พระไตรปิฎก เล่มที่ 14 ข้อ 719) ดังต่อไปนี้
1.1. ผู้ให้มีความบริสุทธิ์ หากเราเป็นคนที่ไม่ถือศีลเลย เวลาเราทำทานเราก็จะได้บุญน้อย หากเราเป็นคนที่รักษาศีล เป็นผู้มีคุณธรรม เราก็จะได้บุญมากขึ้น ยิ่งศีลของเรามาก เราก็จะยิ่งได้บุญมากขึ้น
1.2. วัตถุที่ให้มีความบริสุทธิ์ คือ วัตถุทานที่ให้ได้มาโดยชอบไม่ได้ไปเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ขโมยมา หรือ แย่งมา โกงมา หรือฆ่าสัตว์เพื่อทำบุญ เป็นต้น
1.3. เจตนาของผู้ให้บริสุทธิ์ หากเราให้ทานด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเมตตา ด้วยความปรารถนาดี ทั้งก่อนให้ก็มีความสุขที่จะได้ให้ ขณะให้ก็มีความสุขใจ และหลังจากให้แล้วเมื่อนึกถึงที่ได้ทำไปก็รู้สึกสุขใจ จิตจะตั้งอยู่บนความเบิกบานแจ่มใส เราย่อมได้รับผลบุญสูงกว่าการที่ให้โดยหวังผลประโยชน์บางอย่างตอบแทน ให้เพราะอยากได้หน้า หรือให้ไปแล้วรู้สึกเสียดายทั้งก่อนให้ หรือขณะให้ หรือหลังให้แล้ว ซึ่งทำให้หลังจากให้ไปแล้ว จิตของเราจะตั้งอยู่บนความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ผลบุญย่อมลดลง
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ปุพฺเพว ทานา สุมโน ททํ จิตฺตํ ปสาทเย ทตฺวา อตฺตมโน โหติ เอสา ยญฺญสฺส สมฺปทา.
ทายกผู้ให้ทานนั้น ก่อนให้ก็มีใจยินดี กำลังให้ก็ทำใจให้เลื่อมใส ให้เสร็จแล้วก็มีใจเบิกบาน ข้อนี้ คือความสมบูรณ์ของยัญ (ทาน).
เรื่องของเจตนาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นสิ่งสร้างความแตกต่างในบุญได้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ เจตนาที่ไม่บริสุทธิ์กับเจตนาที่บริสุทธิ์มากๆ จะสามารถให้ผลบุญที่แตกต่างกัน
1.4. ผู้รับมีความบริสุทธิ์ การให้ทานกับใครก็ตาม แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ขอทาน หรือ คนชั่ว หากเราให้ด้วยใจบริสุทธิ์อยากช่วยเหลือ เราก็ได้บุญทั้งหมด เพียงแต่ว่าปริมาณของบุญที่ได้จะไม่เท่ากัน หรือที่เราคงเคยได้ยินเรื่อง เนื้อนาบุญ เปรียบได้ดังเช่นการหว่านเมล็ดข้าว หากหว่านลงนาดี ย่อมได้ผลผลิตมาก แต่หากหว่านลงไปบนพื้นดินที่ไม่ดี หรือบนคอนกรีตก็คงไม่ได้อะไร
พระพุทธองค์ได้เปรียบเทียบปริมาณบุญที่เราได้จากทำบุญให้บุคคลที่แตกต่างกัน (พระไตรปิฎก เล่มที่ 14 ข้อ 711 และ เล่มที่ 23 ข้อ 224) ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ยิ่งเราทำบุญกับผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์มาก เราจะได้รับบุญมากกว่า เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงสมมติเป็นหน่วย ดังนี้
ทำบุญกับคนไม่มีศีล ได้บุญ 1,000 หน่วย
ทำบุญกับคนมีศีล 5 ได้บุญ 10,000 หน่วย
ทำบุญกับคนมีศีลอุโบสถ ได้บุญ 100,000 หน่วย
ทำบุญกับสมมติสงฆ์ (พระที่ถือศีลครบ 227 ข้อ) ได้บุญ 1,000,000 หน่วย
เป็นต้น
ผลของทานมีมาก ให้มนุษย์สมบัติก็ได้ ให้สวรรค์สมบัติก็ได้ ให้นิพพานสมบัติก็ได้ แต่โดยเฉพาะทำให้เป็นคนมีทรัพย์สมบัติไม่ยากจน ทำให้มีบริวารมาก และเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
ดังนั้นในการให้ทาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราควรทำจิตทำใจในการให้ทาน คือ ให้เพื่อละความตระหนี่ในใจ ให้เพื่อละกิเลสคือความโลภ และเป็นที่รักของคนทั้งหลาย ให้เพราะต้องการสงเคราะห์และ ให้เพื่อดำรงพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่สืบไป ไม่ใช่ให้ทานเพราะหวังรวย อย่างนี้ย่อมได้อานิสงส์น้อย
ตอนหน้าจะเป็นเรื่อง จะรักษาศีลอย่างไรให้เกิดบุญ
อ้างอิง:หลักการหรือคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา
http://www.snr.ac.th/
กฎแห่งกรรม โดย พระเทพวิสุทธิกวี
http://www.dhammatan.net