Tuesday 15 November 2011

รักษาศีลอย่างไรให้เกิดบุญ (5)


ศีล หมายถึง การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย
ศีล แปลได้ 3 อย่าง คือ
1. ศีล แปลว่า "ปกติ" คือทำกาย และวาจาให้เป็นปกติให้เรียบร้อย ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด
2. ศีล แปลว่า "เย็น" คือทำให้เยือกเย็น ทำให้เย็นกาย เย็นใจ ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะขาดศีล
3. ศีล แปลว่า "เกษม" คือปลอดภัย ทำให้เบากาย เบาใจ
ศีลมีหลายประเภท คือ
1. ศีล 5 หรือ ศีลกรรมบถ   สำหรับคนทั่วไป
2. ศีล 8 หรือ ศีลอุโบสถ   สำหรับอุบาสก อุบาสิกา
3. ศีล 10   สำหรับสามเณร
4. ศีล 227 หรือ ปาริสุทธิศีล 4   สำหรับพระภิกษุ
การรักษาศีลต้องมีเจตนาจึงจะมีศีลได้ ถ้าไม่มีเจตนาจะงดเว้นหรือจะรักษาศีลแล้ว แม้ผู้นั้นไม่ทำความชั่ว เช่น ไม่ฆ่าสัตว์หรือไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ยังไม่มีศีล เหมือนเด็กที่นอนแบเบาะ แม้ไม่ทำชั่วก็ไม่ก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น หรือเหมือนอย่างวัวควาย แม้มันไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น
ดังนั้นการที่จะมีศีลได้ก็ต้องมี วิรัติ คือมีเจตนาที่จะงดเว้นจากโทษนั้น ๆ


วิรัติ 3
วิรัติ แปลว่า การงดเว้น มี 3 อย่าง คือ
1. งดเว้นด้วยการสมาทาน ( สมาทานวิรัติ) หมายความว่า เราได้ตั้งใจไว้ก่อนว่า จะรักษาศีล ไม่ว่าจะเป็นการไปรับสมาทานศีลที่วัด เช่น สมาทานศีล 5 สมาทานศีล 8 หรือกล่าวเองที่บ้าน หรือคิดขึ้นมาในใจว่าเราจะรักษาศีลที่เรียกว่า เจตนาวิรัติ เป็นต้น เมื่อไปพบเหตุการณ์อันชวนให้ล่วงศีล ก็ไม่ล่วง เพราะถือว่า ตนได้สมาทานศีลไว้ จะล่วงก็เสียดายศีล กลัวศีลจะขาด การงดเว้นจากการล่วงศีล ด้วยคำนึงถึงศีลที่ตนได้สมาทานไว้ อย่างนี้ เรียกว่า สมาทานวิรัติ

2. งดเว้นด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า (สัมปัตตวิรัติ)  เป็นเจตนางดเว้นซึ่งเกิดขึ้นในทันทีทันใด เป็นวิรัติของผู้ที่ไม่ตั้งใจจะรักษาศีลมาก่อน คือ คนบางคนไม่ตั้งใจว่าจะรักษาศีล แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจำเพาะหน้าอันอาจจะให้ล่วงศีลได้ แต่ไม่ยอมล่วงศีล เกิดงดเว้นขึ้นมาในขณะนั้น  เช่น มีโอกาสจะฆ่าสัตว์ หรือฆ่าคนได้ แต่ไม่ฆ่า หรือมีโอกาสจะลักของของคนอื่นได้แต่ไม่ลัก หรือมีโอกาสจะประพฤติผิดในกามได้ แต่ไม่ยอมประพฤติผิดในกาม โดยมาคำนึงว่า การกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะไม่ควรแก่ฐานะ และสกุลของตนอย่างตนเอง จึงงดเว้นเสีย

3. งดเว้นได้เด็ดขาด (สมุจเฉทวิรัติ) เป็นวิรัติของพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป คือ พระอริยบุคคลทุกจำพวกมีศีล 5 บริบูรณ์ที่สุด ท่านงดเว้นจากเวร 5 ได้เด็ดขาด โดยไม่ต้องสมาทาน หรือคอยพะวงรักษา เพราะท่านเห็นโทษของการประพฤติล่วงศีลอย่างแท้จริง แม้ใครจะมาบังคับให้ท่านประพฤติล่วงศีล 5 ท่านยอมตายเสียดีกว่าที่จะประพฤติล่วง การละความชั่วในขั้นนี้ของท่านจึงเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ละได้เด็ดขาด หรือเป็นสมุจเฉทวิรัติ คืองดเว้นได้เด็ดขาด

สรุปอานิสงส์ของศีล
ศีลมีอานิสงส์มาก เช่น ทำให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพของคนทั้งหลาย อยู่ในสังคมอย่างสงบสุข ไม่ก่อเวรก่อภัยต่อผู้ใด ทำให้เป็นคนสง่างาม มีผิวพรรณผ่องใส กล่าวโดยสรุปอานิสงส์ของศีล มี 3 อย่าง ดังคำพระบาลีบอกอานิสงส์ของศีลว่า
1. สีเลน สุคฺตึ ยนฺติ  บุคคลจะไปสู่สุคติได้ก็เพราะศีล
2. สีเลน โภคสมฺปทา  บุคคลจะได้โภคทรัพย์สมบัติได้ก็เพราะศีล
3. สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ  บุคคลจะดับทุกข์ความเดือดร้อนจนเข้าถึงพระนิพพานได้ก็เพราะศีล
ฉะนั้น ทุกคนจึงควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไว้ ก็จะรับอานิสงส์คือบุญอันกิดจากการรักษาศีลดังกล่าวแล้วในที่สุดได้