Saturday, 21 July 2012

ปลาลำตะคองตาย: กรณีศึกษาการจัดการและพรบ.แบบไทยๆ


จริงๆแล้วเรื่องความมักง่าย เห็นแก่ได้ของผู้ประกอบการนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของ (ไทย) เรานับครั้งไม่ถ้วน บางคนอาจไม่สังเกตุก็คิดว่านานๆครั้ง แต่สำหรับ meepole ซึ่งสอนวิชาเคมีสวล มลพิษสวล พิษวิทยาสวล ทำให้ต้องคอยติดตามข่าวเช่นนี้เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้นักศึกษาวิเคราะห์เจาะประเด็น ทุกครั้งที่เกิดเรื่องขึ้นจะอึดอัดมากเมื่ออ่านข่าว โดยเฉพาะจนท.รัฐ ที่ออกข่าวทั้งทันทีและหัวหน้าที่ต้องไตร่ตรองกรองอีกครั้ง และมักจะออกมาเกลี่ย กลบ ว่าตอนนี้ที่ได้รับรายงานไม่เป็นอันตราย ๆๆ หรือไม่ก็ตอนนี้ได้รับรายงานพบว่าสาร....ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ปลอดภัย ก็เข้าใจนะว่าเขามีหน้าที่ต้องทำให้ชาวบ้านไม่ตกใจ จะได้ไม่สร้างปัญหาให้พวกเขา ไม่ต้องอพยพ เจ็บป่วยภายหลังก็ไม่ต้องมีใครรับผิด (เพราะ "ชอบ" มีคนรับไปแทนแล้ว) แทนที่จะห่วงใยทุกข์สุข ของชาวบ้านที่มีความรู้น้อย หวังพึ่งพาพวกเขา แต่หลายครั้งเห็นชัดเจนมากเกินไปว่าพูดแบบไร้จิตสาธาณะ ไร้สำนึกในหน้าที่ที่ตัวเองควรดูแลชีวิตของชาวบ้าน ไม่ไช่ตัวแทนของโรงงาน

 ครั้งนี้อีกเช่นกันที่ไม่ไช่ครั้งแรก ไม่ไช่เรื่องน่าแปลกใจ และไม่ไช่เรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงวงจรการทำงานแบบไปเป็นทีๆ ของหน่วยงานตลอดผู้มีหน้าที่ต้องจัดการ ที่ต้องมีสำนึกสาธารณะ มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเมืองไทยเราชอบลอกเลียน เอาแบบอย่างเพราะขี้เกียจคิด และไม่มีข้อมูลดิบที่จะใช้คิด (ที่เรียกว่า....) แล้วก็แกล้งยกย่องตั้งเป็น โมเดล (model) ขึ้นมาอีก คราวนี้...ถาวรเลย
เรื่องที่ว่านี่ meepole ใช้เป็นกรณีศึกษาให้นศ.สวล เรียน วิเคราะห์ครบวงจรของการจัดการแก้ปัญหาสวลไทยที่ทำให้สวล.ของเราย่ำแย่ลงทุกวัน (ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าตามอ่าน ปลาลำตะคองตาย: กรณีศึกษาการทำงานของจนท  http://meepolen.blogspot.com/2012/07/19-july.html )


ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องกรณีปลาในลำตะคองตายเป็นแพเต็มลำน้ำ ในวันที่ 18 ก.ค. รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมสรุปได้ว่า โรงน้ำแข็ง หจก.โคราชไอซ์ ที่ผลิตน้ำแข็งยี่ห้อ เอ็ม.พี. ซึ่งมีการซ่อมแซมบำรุงเครื่องจักรระบบการผลิตน้ำแข็งในวันก่อนเกิดเหตุปลาตายวันที่ 13 ก.ค. และได้มีการระบายแอมโมเนียไนโตรเจน เป็นปริมาณมากลงลำน้ำลำตะคองในช่วงบริเวณหลังโรงงาน ทำให้ตรวจพบค่าความเข้มข้นของแอมโมเนียไนโตรเจนในน้ำที่จุดดังกล่าวสูงถึง 8.4 มิลลิกรัม/ลิตร (แอมโมเนีย (NH3) ในน้ำในหน่วยไนโตรเจน ต้องมีค่าไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร)
 ภาพ: pimthai.co.th
การแจ้งความเอาผิดโรงงานน้ำแข็ง เอ็ม.พี. มอบหมายให้ประมงจังหวัดนครราชสีมาไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อ หจก.โคราชไอซ์ ในข้อหา ปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ (ลำตะคอง) เป็นเหตุให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมากประมาณ 2 ตัน

มีความผิดตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 ห้ามมิให้บุคคลใด เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใดๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือเท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ หรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษ เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ส่วนความผิดทางแพ่ง ได้มอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) รวบรวมหลักฐานต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งตามมาตรา 96, 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป

กรณีนี้ก็เป็นกรณีศึกษาตอนที่ 2 ให้นักศึกษาสวล ได้พิจารณาต่อ พูดให้เขาลองติดตามสังเกตุกรณีต่างๆที่เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สวลของเรา มักจบแห่แบบเดียวกัน ไม่มีบทลงโทษที่หนักในกรณีเกิดซ้ำ ไม่มีบทลงโทษที่ให้หลาบจำ เพื่อระมัดระวังมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการ และผู้กระทำเอง (คนงาน) ไม่มีการลงโทษในทางอาญา ทั้งๆที่เรื่องเหล่านี้กระทบต่อชีวิตมากมาย แต่บังเอิญที่ตายเป็นหมื่นเป็นแสนทุกครั้งเป็นสัตว์ที่เรียกร้องไม่ได้ แม้กระทบคุณภาพชีวิตคน เช่น กรณีมาบตาพุด เกิดแล้วเกิดอีก ก็ยังคงเกิดได้ต่อไป คนพิการก็พิการป่วยกันไป น่าเศร้าใจแทน พรบ.ที่ใช้แต่โบราณนานมา ไม่เคยมีการทบทวนปรับปรุง เพิ่มโทษ ให้ตามยุคสมัย เทคโนโลยีที่ใช้ และการกระทำที่ไร้สำนึกมากขึ้น

เวลาเกิดความเสียหายอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อก็ (ไม่) ดี  เกิดจากความมักง่าย เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ไร้สำนึกของผู้ประกอบการก็ (ไม่ )ดี ส่วนมากอันหลังมากกว่า ก็มักจะจบง่ายๆ สบายๆ แบบที่เห็นคือ หาสาเหตุการตาย หาที่มาให้เจอ แล้วสั่งปิดรง.เพื่อปรับปรุง (ปรับปรุงแค่ไหนแล้วแต่จะตกลงกัน) เสร็จให้จนท.ตรวจ พอใจตามหลักการก็เปิด ส่วนค่าเสียหายต่อรัฐก็จ่ายกันไปตามพรบ.(โบราณ 20 ปีมาแล้ว) ช่างน่าสารแทนสัตว์น้ำ สัตว์บก และชาวบ้านที่ถูกผลกระทบโดยตรงจริงๆ  กว่าคดีจะเสร็จก็ไม่รู้ว่าสัตว์เหล่านี้ไปเกิดใหม่กี่รอบแล้ว ค่าปรับก็ไม่รู้ว่าคุ้มกับชีวิต สุขภาพ คุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมที่เสียสมดุลไป และไม่รู้ว่าค่าปรับนั้นนำมาใช้จ่ายคืนสู่ชุมชนนั้นในลักษณะใดหรือไม่ เพราะหลังจากข่าวสรุปแบบนี้แล้วมักจะจบข่าว ไม่มีใครตามอีก นี่แหละประเทศไทย อยู่แบบไทยๆ.....(..) ง่ายดี