Saturday, 17 December 2011

การอุทิศบุญ ให้ได้รับผลบุญ (10/2)


ภาพจาก board.postjung.com

(ต่อจากครั้งก่อน) ..การให้ส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เขาจะตายไปแล้วนานเท่าไรก็ได้ จะอุทิศเป็นภาษาไทยก็ได้ เป็นภาษาบาลี หรือภาษาอื่นใดก็ได้ มีน้ำกรวดก็ได้ ไม่มีน้ำกรวดก็ได้ มีกระดูกและชื่อของผู้นั้นก็ได้ ไม่มีก็ได้ ย่อมสำเร็จทั้งสิ้น


การอุทิศส่วนบุญโดยมีน้ำกรวดเพิ่งนำมาใช้ในยุคหลังนี้เอง คือหลังจากครั้งพุทธกาล แต่จะเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่เท่าไร ยังหาหลักฐานไม่พบ แท้ที่จริงการอุทิศส่วนกุศลที่เรียกว่าปัตติทานมัยนั้น เดิมทีไม่ต้องใช้น้ำเลย ฉะนั้นการอุทิศส่วนกุศล จะมีน้ำด้วยก็ได้ ไม่มีก็ได้ ย่อมสำเร็จทั้งสิ้น
หลายคนสงสัยมากว่าทำบุญไปแล้วครั้งหนึ่งถ้าไม่รีบอุทิศบุญ บุญจะหายหรือไม่  ลองพิจารณาจากเรื่องราวต่อไปนี้ที่ meepole คัดลอกมาจาก การอุทิศบุญที่ถูกต้องและได้ผล โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง

การทำบุญไปแล้วครั้งหนึ่งสักกี่ปีๆ บุญก็ยังมีอยู่

การสร้างบุญเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ขึ้นอยู่กับสร้างดีก็ได้บุญ ถ้าสร้างไม่ดีก็ได้บาป หมายถึงก่อนจะทำบุญก็กินเหล้าก่อน พอพระกลับก็กินเหล้ากันอีก แต่ถ้าหากตั้งใจทำบุญโดยมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีบาปมีแต่บุญ อย่างนี้ผู้สร้างบุญก็ได้บุญเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นบุญจะต้องได้แก่ผู้สร้างบุญก่อน  แล้วผู้สร้างจึงจะอุทิศส่วนกุศลให้คนอื่นได้

บุญแม้ทำไปแล้วสัก 30 ปีก็ยังอุทิศส่วนกุศลได้ บุญไม่หาย ไม่ใช่เราทำบุญแล้วเดี๋ยวเดียวบุญหายไป ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าทำบุญแล้วไม่ได้อุทิศส่วนกุศล ผู้ทำเป็นผู้ได้บุญเต็มที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะให้เขาหรือไม่ให้ ถ้าเราไม่ให้เราก็ได้คนเดียว ทีนี้ถ้าเราให้เขาบุญของเราก็ไม่หมด ส่วนที่เราให้ไปไม่ได้ยุบไปจากของเดิม อย่างเรื่องของ พระอนุรุทธ สมัยที่ท่านเกิดเป็นคนเกี่ยวหญ้าช้างของมหาเศรษฐี เวลาที่ท่านทำบุญแล้ว เจ้านายมาขอแบ่งบุญ ท่านก็สงสัยว่าการแบ่งบุญจะแบ่งได้ไหม จึงไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ท่านรับบาตร
ท่านก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า

สมมติว่าโยมมีคบและก็มีไฟด้วย แต่คนอื่นเขามีแต่คบไม่มีไฟ ทุกคนต้องการแสงสว่างก็มาขอต่อไฟที่คบของโยม แล้วคบของทุกคนก็สว่างไสวหมด อยากทราบว่าไฟของโยมจะยุบไปไหม
ท่านพระอนุรุทธก็ตอบว่า ไม่ยุบ

แล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า

การอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนกัน เราให้เขา เขาก็โมทนา แต่บุญของเราก็ยังอยู่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้หายไป

การอุทิศส่วนกุศลแก่บุคคลต่างๆ ที่ตายไปแล้ว

ถ้านึกได้ออกชื่อเขาก็ดี เพราะถ้ากรรมหนาอยู่นิด ถ้าออกชื่อเจาะจงเขาก็ได้รับเลย ถ้านึกไม่ออกก็ว่ารวมๆ ญาติก็ดี ไม่ใช่ญาติก็ดี ถ้า ขืนไปนั่งไล่ชื่อน่ากลัวจะไม่หมด มีอยู่คราวหนึ่งนานมาแล้วไปเทศน์ด้วยกัน 3 องค์ บังเอิญมีอารมณ์คล้ายคลึงกัน วันนั้นทายกนำอุทิศส่วนกุศลออกชื่อคนตายกับบรรดาญาติทั้งหลายที่ตายไปแล้ว ปรากฏว่าบรรดาผีทั้งหลายก็เข้ามาเป็นหมื่นล้อมรอบศาลา คนที่เป็นญาติก็โมทนาแล้วผิวพรรณดีขึ้น พวกที่มิใช่ญาติก็เดินร้องไห้กลับไป ตอนท้ายมีคนถามถึงการอุทิศส่วนกุศลว่าทำอย่างไร
พระองค์หนึ่งท่านเลยบอกว่า ญาติโยมที่นำอุทิศส่วนกุศล อย่าให้ใจแคบเกินไปนัก อย่าลืมว่าการทำบุญแต่ละคราว พวกปรทัตตูปชีวีเปรตก็ดี พวกสัมภเวสีก็ดี จะมายืนล้อมรอบคอยโมทนา แต่ถ้าเราให้แก่ญาติ ญาติก็จะได้ บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติก็จะไม่ได้ ฉะนั้นควรจะให้ทั้งหมดทั้งญาติและไม่ใช่ญาติ

และตอนที่พระให้พร เจ้าภาพและทุกท่านที่บำเพ็ญกุศลแล้ว มีการถวายสังฆทานก็ดี การเจริญพระกรรมฐานก็ดี ควรตั้งจิตอธิษฐานตามความประสงค์ การตั้งจิตอธิษฐานเรียกว่า อธิษฐานบารมี ถ้าท่านตั้งใจเพื่อพระนิพพานก็ต้องอธิษฐานเผื่อไว้ โดยอธิษฐานว่า

ขอผลบุญทั้งหมดนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ แต่ถ้าหากข้าพเจ้ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด จะไปเกิดใหม่ในชาติใดก็ตาม ขอคำว่าไม่มีจงอย่าปรากฏแก่ข้าพเจ้า

อ้างอิง: 1. "การอุทิศบุญที่ถูกต้องและได้ผล" โดยหลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง (พระราชพรหมยาน
           2.  "บุญกิริยาวัตถุ ๑๐" โดยพระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

และเรื่องราวดีๆอีกมากมายที่สามารถหาอ่านได้ใน  http://www.dhammatan.net/