Thursday 1 December 2011

อนุโมทนาอย่างไรให้เกิดบุญ (9/1)



การอนุโมทนาให้เกิดบุญ

หลายๆคนจะสงสัยเราว่า เวลาที่เราเห็นคนทำบุญ หรือเวลาที่มีคนมาเล่าให้เราฟังว่าไปทำบุญมาแล้วให้ สาธุกับเขา เราก็จะได้บุญด้วย ข้อสงสัยที่มักจะเกิดขึ้นในหลายๆคนก็คือ  เราจะได้บุญจริงหรือ??
ลองมาทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อให้เข้าใจ และอนุโมทนาแล้วเกิดบุญจริงๆ จะได้บอกต่อๆกันให้เกิดกุศลทั่วกัน

ทำไมการอนุโมทนาก่อให้เกิดบุญ

อนุโมทนา แปลว่า ความยินดีตาม ความพลอยยินดี หมายถึงการแสดงความชื่นชมยินดีในบุญหรือความดีที่ผู้อื่นทำ
การโมทนาบุญจึงเป็น "มากกว่า" การได้บุญร่วมกับคนอื่น และไม่ใช่เป็นการ เกาะบุญของใครเพราะบุญที่เราได้รับนั้น เกิดจากจิตใจ "อันดีงาม อันบริสุทธ์" ของตัวเราเองล้วนๆ

ในพระอรรถกถา เล่ม 75 หน้า 427 ได้กล่าวถึงการกระทำที่เป็นบุญพื้นฐาน มีอยู่ 10 อย่าง ที่เรียกรวมกันว่า "บุญกิริยาวัตถุ 10" ซึ่งหนึ่งใน 10 ข้อนี้ชื่อว่า "ปัตตานุโมทนามัย"  ซึ่งหมายถึง การโมทนาบุญหรือการยินดีในความดีของผู้อื่น หมายถึงเวลาที่เราเห็นผู้อื่นทำความดีหรือทำบุญ หรือได้ดีมีความสุข เราก็ยินดีไปกับเขาด้วย การที่ใจมีความรู้สึกยินดีต่อความดีของผู้อื่นแบบนี้ตัวเราเองก็จะได้บุญด้วย บุญแบบนี้จะเกิดจาก "เจตนา" ของจิตใจที่ตั้งอยู่บนฐานของความ "ยินดี" จิตเป็น"กุศล" เกิดขึ้นเราก็จะได้บุญ

ทำไมจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้น เราจึงได้บุญ

อ้างจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ข้อ 334 ที่กล่าวว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
คำว่า เจตนา แปลได้ง่ายๆก็คือ ความตั้งใจ การกระทำที่ไม่มีความตั้งใจจะไม่ถือว่าเป็นกรรม เมื่อไม่เป็นกรรมก็จะไม่มีบุญหรือบาป ที่สำคัญคือ คำว่า "กรรม" ไม่ได้หมายถึงการกระทำทางกายเท่านั้น แต่หมายถึงการกระทำทางกาย วาจา ใจ หากกระทำทางใดทางหนึ่งหรือทั้ง 3 ทางก็จะถือว่าเป็นกรรม จะมีบุญหรือบาปเกิดขึ้น
การที่มีจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นเราได้บุญ เพราะเป็นการกระทำที่มี "เจตนาทางใจ" จึงถือว่าเป็นกรรม เมื่อเป็นกรรม"ดี" เราก็เลยได้"บุญ" นั่นเอง

การอนุโมทนาเราต้องกล่าวคำว่า "สาธุ" หรือไม่ กล่าวแล้วจะได้บุญ ไม่กล่าวไม่ได้บุญหรือไม่ ในตอนต่อไปค่ะ