การทำความเห็นให้ตรงให้เกิดบุญ
หลวงพ่อลาก
การทำความเห็นให้ตรง ทิฏฐุชุกัมม์ ได้จะต้องมี สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือเห็นตรงตามทำนองคลองธรรม ให้ถูกต้อง ความเห็นถูกต้องนี้ต้องทำกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร ควรพิจารณาตรวจสอบกิจกรรมทุกอย่างว่า เราทำด้วยความรู้เข้าใจถูกต้องหรือเปล่า ไม่ทำอย่างงมงายต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องประกอบอยู จัดเป็นบุญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ส่วนการเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว บาปบุญไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี ตายแล้วสูญ เป็นต้น เป็นมิจฉาทิฐิ เป็นอกุศลกรรมบถ จัดเป็นบาป แม้ไม่ได้ทำชั่วด้วยกาย หรือวาจา แต่ถ้ามีความคิดเห็นเช่นนี้ก็จัดเป็นบาป และบาปมากถึงขั้นห้ามสวรรค์ห้ามนิพพานทีเดียว เพราะจิตตั้งไว้ผิดหลงทางเสียแล้ว จึงไม่ยอมทำความดี มีแต่จะทำความชั่ว
ส่วนการทำความเห็นให้ตรง เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น แม้ผู้นั้นยังไม่ทำดีด้วยกาย หรือว่าไม่ทำดีด้วยกาย หรือวาจา เป็นเพียงแต่เห็นถูก เห็นตรงเท่านั้น ก็จัดเป็นบุญ และเป็นบุญที่ครอบคลุมบุญอื่นทั้งหมด เพราะเมื่อคนเราเห็นถูก เห็นตรง เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็ย่อมทำบุญประเภทอื่น ๆ ด้วยความสนิทใจ เชื่อมั่น และตั้งใจทำ
สัมมาทิฏฐิ 10 คือ มีความเห็นตรง เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงใน 10 เรื่อง โดยเห็นว่า
ผู้ใดมีความเห็นชอบ เห็นตรง ทั้ง 10 อย่างนี้ ชื่อว่าทำความเห็นให้ตรง เป็นสัมมาทิฐิ ถ้าเห็นตรงกันข้ามก็เป็นมิจฉาทิฐิ
1. การให้ทานมีผล2. การบูชามีผล3. การต้อนรับแขกด้วยของต้อนรับมีผล4. ผลของกรรมดีกรรมชั่วมี5. โลกนี้มี (คือสัตว์จากโลกอื่นมาเกิดในโลกนี้มี)6. โลกอื่นมี (คือสัตว์จากโลกนี้ไปเกิดในโลกอื่นมี)7. มารดามีคุณ8. บิดามีคุณ9. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ (เช่น เทวดาและเปรต) มี10. สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบ ทราบชัดถึงโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาได้เอง และสามารถให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วย มี (คือ พระอรหันต์มี)
จิตที่ตั้งไว้ถูกทางนั้น ย่อมนำความสุขความเจริญมาให้แก่เจ้าของได้มาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์ธรรมบทว่า
น ตํ มาตา ปิตา กยิรา อญฺญเฌ วาปิจ ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ เสยฺยโส นํ ตโต กเร.
จิตที่ตั้งไว้ชอบ ย่อมทำบุคคลนั้นให้ประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งที่พ่อแม่หรือญาติพี่น้องอื่นทำให้เสียอีก
ดังนั้นการทำบุญในพระพุทธศาสนามีเพียง 10 ประการดังกล่าวมา ไม่ได้นอกเหนือไปกว่านี้เลย ใครจะเลือกทำอย่างไหนก็ทำได้ตามกำลังและความสามารถของตน แม้คนไม่มีเงินทองเลย เป็นคนยากจนก็สามารถทำบุญได้ ถ้าหากผู้นั้นประสงค์จะบำเพ็ญบุญจริง ๆ เพราะบุญไม่ใช่เพียงให้ทานอย่างเดียว ยังมีอีกถึง 9 อย่างที่ไม่ต้องใช้เงินทอง และมีอยู่หลายอย่างที่มีผลมากกว่าทาน
บุญของเรานั้นไม่ได้อยู่เฉพาะแค่พระสงฆ์ที่เราถวายเท่านั้น แต่บุญไปถึงพระศาสนาทั้งหมด เมื่อพระศาสนาอยู่ได้ ธรรมก็อยู่ได้ แล้วธรรมก็เผยแพร่ออกไป ก็เกิดเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เมื่อประชาชนได้รู้เข้าใจประพฤติปฏิบัติธรรม สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข
เวลาทำบุญ เราสามารถทำทั้ง 3 อย่างพร้อมกันอย่างที่กล่าวแล้ว อย่าให้ได้แต่ทานอย่างเดียว ต้องให้ได้ศีล ได้ภาวนาด้วยพร้อมกันหมด เราจึงจะพูดได้เต็มปากว่า “ทำบุญ” มิฉะนั้นเราก็ได้แค่ส่วนหนึ่งของบุญคือทานเท่านั้น
บุญทุกประเภทเป็นตัวนำสุขมาให้ ทั้งโจรจะลักขโมยไปก็ไม่ได้ แต่สามารถนำติดตัวไปได้ด้วยแม้เมื่อตายไปแล้ว ไม่เหมือนทรัพย์สมบัติ ที่เมื่อตายแล้วก็ทิ้งไว้หมดสิ้นแม้แต่รูปร่างกาย ดังคำกลอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสีที่ว่า
"มีเจ้ามามีอะไรมาด้วยเจ้า เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เมื่อเจ้าไปเจ้าจะเอาอะไร เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา"
บุญย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ตราบเฒ่าชรา