ขอให้ทำจริงๆเถอะ
เช้านี้ระหว่างรอ..หยิบหนังสือพิมพ์เก่าเดือนสิงหาคมมาอ่าน ครูผู้สอนวิชาด้านสิ่งแวดล้อมเห็นสาระอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็อ่านก่อนเสมอ ด้วยจุดประสงค์สองอย่าง หาความรู้ใส่ตัว หาความรู้ไปสอนนักศึกษา (บางทีก็นึกๆว่าเหมือนแม่นกกับลูกนก ที่วันๆส่ายตาออกหาหนอนไปป้อนลูกนก ต่างแต่ว่าลูกนกดีใจ อ้าปากรออาหาร แย่งกันกินอาการ แม่นกมีกำลังใจหามาป้อนอีก เจอนักศึกษารุ่นหลังนี่ตะโกนบอกอาหารมาแล้วก็เฉย ปรุงย่อยให้เสร็จ แทบต้องขอร้องให้กินเข้าไป เสียงเข้าหูซ้ายทะลุขวาหายไปหมด ถามก็เงียบ) รักษาอุเบกขาจริงๆ ไม่รู้อุเบกขาเพราะไม่รู้ หรืออุเบกขาเพราะรู้ พอผลสอบออกมาก็รู้ว่าอุเบกขาแรกมันมากจริงๆ
อ่านเรื่อง กรมอุทยานฯดีเดย์ใช้หลักเศรษฐศาสตร์ประเมินคุณค่าระบบนิเวศ
"กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) เปิดตัวโครงการเพิ่มศักยภาพการใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์เพื่อคงคุณค่า ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เน้นการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการเงินเป็นตัวสร้างแรงจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งดำเนินงานโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) และศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมเฮล์มฮอลท์ซ ด้วยงบประมาณโครงการรวม 80 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป รัฐบาลไทย รัฐบาลเยอรมนี และศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมเฮล์มฮอลท์ซ ในโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ความร่วมมือดังกล่าวดำเนินการภายใต้ชื่อ “เศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (The Economic of Ecosystemas and Biodiversity : TEEB ) โดยโครงการจะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2557 "
เจอคำพูดที่น่าคิดของ นางเวโรนีค ลอเรนโซ ที่ปรึกษาทางการทูตและหัวหน้าฝ่ายความร่วมมือ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ที่กล่าวว่า
“ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่ให้ปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น น้ำสะอาด และการควบคุมสภาพภูมิอากาศนั้นมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีเสมอ ดังนั้นการรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีความคุ้มค่า”
http://www.dailynews.co.th/web/index.cfm?page=content&categoryID=546&contentID=159792
อยากให้ทุกคนได้อ่านและตระหนักจริงๆ ก็ได้แต่หวังเช่นกันว่าผู้มีตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ทั้งหลาย เมื่อได้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ออกมาแล้ว ต้องพัฒนาออกมาเป็นมาตรการ และมาตรการนั้นต้องปฎิบัติได้จริงและที่สำคัญต้องมีกฎหมายหรืออะไรก็ตามรองรับในกรณีที่ไม่ปฎิบัติตาม ให้สอดคล้องกัน ไม่ไช่เปิดช่องว่าง ช่องโหว่ จนไม่มีอะไรสามารถปฎิบัติได้จริง ก็จะเสียเงิน 80 หายไปกับการจัดประชุม ซึ่งจริงๆ เงิน 80 ล้านนั้น หากจะปลุกจิตสำนึก รณรงค์จริงจังให้ถูกจุดให้เข้าใจ และรักผืนป่าธรรมชาติ มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนอย่างต่อเนื่อง อาจไม่ต้องใช้เงินถึง 80 ล้านแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนหลายๆโครงการที่ผ่านไปโครงการแล้วโครงการเล่า ที่หมดงบ ก็หมดโครงการ จบเรื่อง (โดยที่เรื่องไม่จบ) มีงบค่อยเริ่มกันอีก
นั่งติดตามข่าวแบบนี้ด้วยความไม่ยินดีหรือหวังอะไรนัก เพราะไม่อยากผิดหวังอีก เหมือนโครงการรณรงค์แยกขยะที่จังหวัดที่ meepole อยู่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน จัดอบรม ทำเอกสารสีสวย ทำป้ายใหญ่โฆษณาทั่วเมือง ซื้อถัง หมดงบมหาศาลไปไม่รู้เท่าไหร่ สุดท้ายตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิม ขยะล้น ไม่มีการคัดแยกขยะของชาวเมือง บ้านใครอยากทำก็ทำไปเป็นเรื่องสำนึกส่วนบุคคล อีกตัวอย่างที่ชัดเจนรณรงค์ลดโลกร้อน ประหยัดพลังงาน ลองดูรูปนี้ที่เป็นหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งที่สร้างขณะรณรงค์ลดโลกร้อน (คงไม่ไช่ที่เดียวในประเทศ) เครื่องแอร์ที่เห็นครึ่งตึกด้านหลัง 60 กว่าตัวนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เป็นตัวอย่างและบทเรียนที่สวนกระแส แล้วจะกระตุ้นสอนนักศึกษาให้ดูตัวอย่างการประหยัดพลังงานได้อย่างไร คงไม่ต้องพูดอะไรมากกว่านี้ เพราะภาพเดียวแทนคำตอบ สะท้อนและสรุปทุกอย่างให้เห็นชัดเจน
คนไทยคิดโครงการเก่ง ตั้งงบเก่ง โครงการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมดีๆมีมากมาย เพียงแต่ขาดคนที่มีสำนึกจิตสาธารณะที่แท้เป็นคนดำเนินการทำ ก็เลยไม่มีอะไรสำเร็จอย่างแท้จริง งบหมด งานก็จบ น่าเสียดายจัง!!
คนไทยคิดโครงการเก่ง ตั้งงบเก่ง โครงการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมดีๆมีมากมาย เพียงแต่ขาดคนที่มีสำนึกจิตสาธารณะที่แท้เป็นคนดำเนินการทำ ก็เลยไม่มีอะไรสำเร็จอย่างแท้จริง งบหมด งานก็จบ น่าเสียดายจัง!!