Thursday 22 September 2011

ใช้อุเบกขาให้ถูกต้อง: อุเบกขาไม่ไช่วางเฉย

ใช้อุเบกขาให้ถูกต้อง: อุเบกขาไม่ไช่วางเฉย


หลายๆเรื่องราวที่พบเห็น ได้ยิน รับรู้ ทั้งในที่ทำงานและในสังคมบ้านเมืองทำให้ต้องพยายามใช้หลักพุทธธรรม เพื่อค้ำจุนจิตใจไม่ให้หดหู่ เศร้าใจกับการกระทำที่เห็นแก่ผลประโยชน์ตนเป็นใหญ่ของคนผู้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวม สังคม  จนถึงต้องบอกตัวเองว่าใช้หลักอุเบกขา(Upekkha)ดีที่สุด

 ทุกเรื่องที่เกิดในที่ทำงานก็พยายามทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ช่วยอธิบายสุดความสามารถ หลักเมตตา กรุณา มุทิตา ก็ได้ใช้หมดแล้ว หากยังไม่เข้าใจก็ต้องอุเบกขา ชีวิตเป็นของพวกเขา เราทำหน้าที่เหนือความรู้สึกไปแล้ว (ความรู้สึกนิสัยของ meepole คือไม่อยากเข้าไปยุ่ง รังเกียจการกระทำของพวกเขา แต่หน้าที่ครูคือต้องสอนให้รู้ถูก-ผิด ควร-ไม่ควร สำนึกเป็นของพวกเขา สงสารแต่อาจารย์รุ่นน้องที่เหนื่อยและทุ่มเท...แต่ก็ไม่เสียเปล่า บอกเขาว่าเพียงแค่เราคิดดี ทำดี ผลดีก็เกิดกับตัวเราแล้วทันที อย่าไปเสียใจกับการกระทำของพวกเขาเลย

ถึงตรงนี้ก็เลยนึกได้ว่า บางคนอาจเข้าใจว่า อุเบกขาคือการวางเฉย และคนส่วนมากก็มักพูดว่า "วางเฉยก็แล้วกัน ไม่ไช่เรื่องของเรา" นั่นยังใช้อุเบกขาผิดความหมายที่แท้

อุเบกขาไม่ไช่ความวางเฉย เพราะวางเฉยคือไม่สนใจ ไม่ยุ่งแม้เห็นผู้อื่นทุกข์หรือลำบาก วางเฉยแบบไม่แยแสหรือไม่รู้ไม่ชี้ ทั้งๆ ที่สามารถช่วยเหลือได้ เป็นต้น แต่อุเบกขา เกิดต่อเมื่อเราได้มีเมตตา กรุณา มุทิตาแล้ว เราจึงจะได้เข้าอุเบกขา

Upekkha  is definitely not indifference. Indifference is when we don't  really care; when we see others suffering and we say to ourselves,' "it's not my business, i can't get involve".

Upekkha arises in our hearts after arising of metta karuna mudita, only then do we sense the need for Upekkha or equanimity. Upekkha without metta karuna mudita is not true Upekkha


อุเบกขาที่ปราศจาก เมตตา กรุณา มุทิตานั้น จึงไม่ไช่อุเบกขาที่แท้จริง ในทางปฏิบัติต้องใช้หลักพรหมวิหารสี่ ทั้ง4 ประการไปด้วยกัน


ข้อความส่วนข้างล่างนี่จะสามารถใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ อุเบกขาได้ดียิ่งขึ้น ( meepole ได้เก็บบางส่วนมา ไม่ทราบที่มา แต่กุศลจากการที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็บังเกิดแก่ผู้มีเมตตานั้นแล้ว)

..การที่เราจะพัฒนาอุเบกขาขึ้นในจิตใจได้ ต้องเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งของชีวิต ว่าไม่มีใครหนีพ้นจากโลกธรรมแปด คือ
โลกธรรมแปดฝ่ายน่าปรารถนา ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข
โลกธรรมแปดฝ่ายไม่น่าปรารถนา ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
ต้องใช้สติปัญญา เข้าใจความเป็นไปของชีวิต ปล่อยวางได้ ทำใจได้ ไม่ทุกข์ใจ เอาใจใส่ และรับผิดชอบในชีวิตปัจจุบัน ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดด้วยความพอใจ สงบใจ

ที่สุดของอุเบกขา คือไม่มีปฏิฆะ อันหมายถึง ความกระทบกระทั่งใจ ความหงุดหงิดขัดเคืองเกิดขึ้นในใจแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะมีเรื่องราวเดือดร้อน รุนแรงขนาดไหนเข้ามากระทบ ก็ทำใจปล่อยวางและสงบใจได้ อุเบกขาจึงถือเป็นคุณธรรมขั้นสูง อันเปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อย่างสมบูรณ์ในขณะเดียวกัน

พระธรรมกิตติวงศ์ ได้ให้ความหมายและลักษณะของผู้มีอุเบกขาไว้ดังนี้

ลักษณะของผู้มีอุเบกขา คือเป็นคนหนักแน่นมีสติอยู่เสมอ ไม่ดีใจไม่เสียใจจนเกินเหตุ เป็นคนยุติธรรม ยึดหลักความเป็นผู้ใหญ่ รักษาความเป็นกลางไว้ได้มั่นคงไม่เอนเอียงเข้าข้าง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลถูกต้องคลองธรรม และเป็นผู้วางเฉยได้เมื่อไม่อาจประพฤติเมตตา กรุณา หรือมุทิตาได้

จากนี้ไปคงสามารถนำอุเบกขาที่ถูกต้องไปใช้และบอกต่อเพื่อเผยแพร่การประพฤติตามหลักธรรมให้ถูกต้อง แล้วอานิสงค์ที่เป็นความสุขที่สงบก็จะบังเกิดค่ะ :)

อ้างอิง
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548.

ภิกษุณีธัมมนันทา  ทุกอย่างอยู่ที่ใจ บ.มอนิ่งกราฟ จำกัด  2549.