คุณความดี..ที่ต้องสืบต่อ
เมื่อวานอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ขณะเดินผ่านคณะนิติศาสตร์ ก็รับรู้ถึงบรรยากาศดีๆ ปลื้มใจในสิ่งดีๆที่อาจารย์หรือใครก็ตามที่เป็นต้นคิดทำในสิ่งนี้ คือให้มีการยกย่อง ระลึกถึงเกียรติคุณ คุณูปการ คุณงามความดีต่างๆที่ท่านเหล่านั้นได้ทำมาทั้งแก่สังคมภายนอก และแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิ่งที่เห็นคือที่ผนังของเสาหน้าตึกที่มีเนื้อที่เพียงเล็กน้อย ก็มีรูปถ่าย รูปวาด และประวัติย่อๆ ของอาจารย์หลายๆท่านที่ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ที่นี่รวมทั้งอาจารย์พิเศษที่เชิญมาสอนด้วย เช่น ท่านไพโรจน์ ชัยนาม ศาสตราจารย์ ดร.จิ๊ด เศรษฐบุตร ศาสตราจารย์ ดร.จิ๊ด เศรษฐบุตร ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย เป็นต้น แม้ว่าจะเป็นส่วนเล็กๆที่เขียนด้วยกระดาษปะติดไว้ แต่ก็แสดงให่เห็นถึงความรู้สึก ความคิดของอนุชนรุ่นหลังที่รู้จักยกย่อง ผู้ที่สมควรได้รับการยกย่อง และจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาคุณความดีของท่าน และเรียนรู้ว่า หากทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทำคุณงามความดีให้ปรากฏ ก็จะได้รับการเชิดชูยกย่อง แม้ว่าบางท่านจะไม่เด่นดังระดับประเทศ ระดับโลก แต่การได้รับการยกย่องเชิดชูในสถาบันที่ท่านเคยทำงานอยู่ ให้ปรากฏแก่อนุชนรุ่นต่อๆไปนั้น นับเป็นชื่อเสียง ความภาคภูมิใจแก่วงศ์ตระกูลและแก่สถาบันนั้นเองด้วย
ที่กำแพงตึกด้านหน้าก่อนเข้าคณะมีข้อความที่ติดไว้เป็นคำกล่าวของศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์
“การทำงานต้องบริสุทธิ์ ให้บรรลุผลสุดท้ายคือ ความยุติธรรม”
อ่านแล้วสะท้อนถึงอะไรๆหลายอย่างในสังคมขณะนี้ และหวังว่าคงยังมีลูกศิษย์ของท่านที่มีปณิธาณที่จะดำเนินชีวิตการทำงาน และมีมโนธรรมเยี่ยงท่านอยู่ ทำงานอุทิศตนเพื่อ รับใช้ชาติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าของคนรุ่นหลังต่อไป
ในมหาวิทยาลัยยังมีอนุสาวรีย์รูปหล่อของผู้มีคุณูปการแก่มหาวิทยาลัยและแก่ประเทศชาติอีกหลายท่านเช่น ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากร อาจารย์ปรีดี พยมยงค์ เป็นต้น
และอยากให้ทุกๆสถาบันได้มีการยกย่องบุคคลที่ดี มีคุณธรรม สร้างสรรค์สิ่งดีๆแก่สังคม สมควรแก่การยกย่อง เพื่อชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต สังคมไทยเราจะได้มีคนดี ที่ดีจริงๆสืบต่อไป เหมือนดังที่เราเคยพูดกันว่า “กรุงศรีอยุธยา ไม่สิ้นคนดี”
เรามาช่วยกันยกย่องคนดี และทำความดีเพื่อส่วนรวม เพื่อให้คุ้มค่าที่เกิดมาเป็นคน กันเถอะค่ะ
เพิ่มเติม
ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นนักกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งในวงการกฎหมายไทยเท่าที่เคยปรากฎมา ท่านได้ชื่อว่าเป็นบรมครูแห่งวงการกฎหมายไทยแนวความคิดทางกฎหมายของท่านยังคงมีอิทธิพลมากต่อวงการศึกษากฎหมายไทย และจริยธรรมอันดีงามของท่านนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักกฎหมายยึดถือปฏิบัติเสมอมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
เมื่อท่านได้ลาออกจากราชการไปรับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย ธนาคารแหดงประเทศไทย ท่านให้ข้อคิดว่า
"ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย แม้จะมาทำงานทางด้านบริหาร ก็ต้องถือว่าความเห็นในทางกฎหมายต้องอิสระ นักกฎหมายจะต้องไม่ยอมเป็นเครื่องมือในทางนอกกฎหมายของใครทั้งนั้น "
สำหรับการดำรงตนในวิชาชีพผู้พิพากษา ท่านได้ให้ข้อคิดว่า
"ผู้พิพากษาที่ดีนั้นจะต้องวางตัวอยู่ในกรอบแห่งธรรมเนียมของวิชาชีพ ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ข้อสำคัญก็คือจะต้องไม่ทำตัวให้คนสงสัยว่าเราไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่เขา"